กรุงเทพ ฯ 13 มี.ค. – ธนาคารโลกห่วงคนไทย 14 ล้านคน ไม่พ้นภาวะยากจน เสนอรัฐดูแล อุดหนุนคนจน โดยเฉพาะเกษตรกรภาคอีสาน เหนือ และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คาดไทยใช้เวลา 20 ปี จึงจะเป็นประเทศรายได้สูง
นายลารส์ ซอนเดอร์การ์ด หัวหน้ากลุ่มงานด้านการพัฒนามนุษย์และความยากจน ธนาคารโลก เปิดเผยรายงาน “กลับสู่เส้นทาง : ฟื้นฟูการเติบโตและประกันความมั่งคั่งสำหรับทุกคน” ซึ่งเสนอแนวทางการกำจัดความยากจนในประเทศไทย ว่า ประเทศไทยมีคนยากจนถึง 7.1 ล้านคน วัดจากรายได้ต่ำกว่า 6.2 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อวัน หรือต่ำกว่าประมาณ 218 บาทต่อคนต่อวัน และมีประชากรอีก 7 ล้านคน ที่มีรายได้เหนือเส้นความยากจนเพียงร้อยละ 20 และมีความเสี่ยงต่อการกลับไปยากจนอีก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงจากเฉลี่ยร้อยละ 7.7 ก่อนปี 2540 เหลือเติบโตร้อยละ 4.2 ในช่วงปี 2543-2556 และร้อยละ 3.2 ในปัจจุบัน ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรลดลงถึงร้อยละ 13 ในช่วงปี 2556-2557 ทำให้ปัจจัยสนับสนุนการลดความยากจนหมดไป และคาดว่าต้องใช้เวลามากกว่า 6 ปี ประเทศไทยจึงจะจัดการปัญหาความยากจนหมดลงได้
“จากการศึกษาพบว่าหากเศรษฐกิจไทยโตร้อยละ 4.2 ต้องใช้เวลา 6 ปี จึงจะแก้ปัญหาความยากจนหมด แต่การที่เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ ทำให้ระยะเวลาแก้ปัญหาดังกล่าวต้องยืดเวลาออกไปอีก” นายลารส์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาความสามารถทางด้านการแข่งขันของไทยถดถอยลง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาขึ้นมาเท่าเทียมกับไทย ประกอบกับ ไทยขาดเสถียรภาพทางการเมือง มีความตึงเครียดทางสังคม ทำให้เกิดความแน่นอนกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนและยังขาดการลงทุน การพัฒนามานานหลายปี ดังนั้น ประเทศไทยต้องใช้เวลาถึง 20 ปี เพื่อที่จะได้สถานภาพเป็นประเทศที่มีรายได้สูง
นายลารส์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีความหวังที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวสูง และแก้ปัญหาความยากจนให้หมดไปได้ ซึ่งธนาคารโลกเสนอ 3 แนวทาง คือ แนวทางแรก รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือ อุดหนุนคนจนที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร ดังนั้น ต้องเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตร สร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็งกว่าเดิม แนวทางที่ 2 การสร้างงานที่ดีเพิ่มขึ้น โดยกระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ลดระเบียบข้อบังคับ เพิ่มการแข่งขันผ่านการค้าเสรี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และแนวทางสุดท้าย การสร้างการเติบโตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จัดการทรัพยากรน้ำ ลดความเสี่ยงภัยจากภัยธรรมชาติ
นายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 แต่การที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ คนไทยต้องมีทักษะสูงขึ้น โดยต้องมีการปรับปรุงระบบการศึกษา การเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการที่ประเทศไทยจะกลับมาสู่ความมั่งคั่ง.-สำนักข่าวไทย