ก.พลังงาน 110 ม.ค. – พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานมุ่งเน้นการทำงานเพื่อเป้าหมายในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้กับภาคพลังงานของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และประชาชน อย่างรอบด้าน โดยปี 2559 สร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้า และการพัฒนาความมั่นคง สร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้ามีการบูรณาการตั้งแต่ระบบผลิตด้วยการเร่งรัด ผลักดัน การพัฒนาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผน PDP 2015 พร้อมทั้งพัฒนาระบบสายส่งให้สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและรองรับพลังงานทดแทนได้ รวมถึงสร้างความร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน
ด้านความมั่งคั่ง ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน โดยปรับลดค่าเอฟที เดือนมกราคม 2558 – ธันวาคม 2559 ลง 52.68 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ประเทศประหยัดค่าไฟฟ้า 92,103 ล้านบาท/ปี สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในกิจการ ก๊าซเสรี พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ในกิจการก๊าซธรรมชาติ โดยอนุมัติให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) เพื่อรองรับการนำเข้าแอลเอ็นจีตอนบน และผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อปรับปรุงโครงสร้างในการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความชัดเจนและมีกฎหมายรองรับ ล่าสุด พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ด้านการสร้างความยั่งยืน ส่งเสริมพลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการผลักดันโครงการประชารัฐ โดยการส่งเสริมพลังงานทดแทนมีการดำเนินการปรับลดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed- in Tariff ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน การเปิดโครงการโซลาร์เสรี 100 เมกะวัตต์ และส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เองด้วยการติดตั้ง Solar rooftop บนหลังคาบ้านเรือนและอาคารธุรกิจ รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลในพื้นที่ภาคใต้ และการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ส่วนการดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์พลังงาน ประกอบด้วย การจัดการพลังงานในโรงงานและอาคารควบคุม 8,600 ราย คิดเป็นผลการประหยัดพลังงานอยู่ที่ 320 ktoe การผลักดันการบังคับใช้กฎหมายร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการมาตรการ Building Energy Code โดยเริ่มบังคับอาคารตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ภายในปี 2560 การส่งเสริมการติดฉลากอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 26 ล้านใบ คิดเป็นผลประหยัดอยู่ที่ 207.9 ktoe นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนทางการเงิน อาทิ โครงการเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ปล่อยกู้แล้ว 1,037 ล้านบาท คิดเป็นผลประหยัด 6.84 ktoe ต่อปี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 210 ล้านบาทต่อปี
สำหรับการผลักดันโครงการประชารัฐ มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้เกษตรกร โดยได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานทดแทน เช่น การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านโครงการไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน การนำของเหลือใช้มาผลิตพลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อลดรายจ่ายชุมชน และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากพืชพลังงาน สิ่งเหลือใช้ เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพและชีวมวล ส่วนปี 2560 กระทรวงพลังงานจะขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศตามนโยบาย Energy 4.0 ซึ่งมีเป้าหมาย สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศ เพื่อให้ประเทศชาติในภาพรวมหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ระดับปานกลาง สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ให้เป็นรูปธรรมตามแผนที่วางไว้
ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย Energy 4.0 นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนนโยบาย Energy 4.0 มีหลักการสำคัญ คือ การยกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงานในปัจจุบัน และการนำนวัตกรรมที่เหมาะสม มาใช้ในการพัฒนา ส่วนองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย กระทรวงพลังงานได้คำนึงให้ครอบคลุมระบบพลังงานทั้งระบบตั้งแต่การผลิต จัดหา แปรรูป ขนส่งไปจนถึงการใช้ โดยแบ่งตามประเภทพลังงาน ซึ่งจะครอบคลุมถึงแผนพลังงานระยะยาว ได้แก่ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ควบคู่ไปกับแนวนโยบายประชารัฐ โดยด้านเชื้อเพลิงภาคขนส่ง มาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2560-2561 อาทิ การส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งจะดำเนินการศึกษาต้นทุนร่วมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การกำหนดแนวทางการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่างยั่งยืน และการเพิ่มสัดส่วนการใช้เอทานอล และไบโอดีเซลด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้น การเพิ่มศักยภาพการขนส่งน้ำมันทางท่อ โดยในเดือนเมษายน 2560 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเส้นทางสายเหนือ คือ อยุธยา –กำแพงเพชร-พิจิตร และกำแพงเพชร-ลำปาง ส่วนปี 2561 จะเริ่มก่อสร้างสายอีสาน เส้นทางสระบุรี-ขอนแก่น นอกจากนี้ ยังจะดำเนินการสรุปแนวทางการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ภายในเดือนสิงหาคม 2560
ด้านไฟฟ้า มาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนปี 2560-2561 อาทิ การจัดทำแผนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนรายภาค การสร้างตลาดซื้อขายไฟให้โรงไฟฟ้าเก่าที่มีศักยภาพ การบริหารจัดการให้ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต้นทุนต่ำให้มากที่สุด การประกวด Smart City ต้นแบบ และการกำหนดรูปแบบทางธุรกิจไมโครกริด และเริ่มโครงการไมโครกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้านเชื้อเพลิงผลิตความร้อน มาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2560-2561 อาทิ การเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ และการขับเคลื่อน Third Party Access Code การสร้างความต่อเนื่องการผลิต ก๊าซธรรมชาติในประเทศ และการขยาย LNG Terminal และท่อก๊าซธรรมชาติ
สำหรับโครงการประชารัฐ มาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนปี 2560-2561 อาทิ การส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนลดการใช้พลังงานในการผลิต 326 แห่ง ส่งเสริมครัวเรือนต้นแบบ 15,200 ครัวเรือนในการลดใช้พลังงานลงให้ได้ร้อยละ 10 และส่งเสริมชุมชนผลิตชีวมวลป้อนภาคอุตสาหกรรม
ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อน Energy 4.0 มีเป้าหมายยกระดับการบริหารจัดการระบบพลังงาน ส่งผลให้การผลิต การจัดหาพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปี 2560-2561 ตั้งเป้าลดใช้พลังงานภาคต่าง ๆ อาทิ ภาคการผลิตไฟฟ้าลดลง 24 ล้านตัน/ปี ภาคพลังงานในครัวเรือนลดลง 4 ล้านตัน/ปี ภาคพลังงานในอาคารลดลง 1 ล้านตัน/ปี ภาคพลังงานพลังงานอุตสาหกรรมลดลง 41 ล้านตัน/ปี และภาคขนส่งลดลง 41 ล้านตัน/ปี เป็นต้น.-สำนักข่าวาไทย