กรุงเทพฯ 21 พ.ย.-กบง. อนุมัติ ปตท. – กฟผ. สร้างคลังนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว โดยในส่วนของ ปตท.อนุมัติคลังแห่งที่ 2ขนาด 7.5 ล้านตัน ส่วนเรื่องโรงไฟฟ้า กัลฟ์ เจรจาเลื่อนระยะเวลาส่งมอบไฟฟ้า (ซีโอดี) ออกไป เหตุสำรองไฟฟ้าสูง
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. เมื่อวันศุกร์ที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา อนุมัติให้ บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ลงทุนสร้างคลังนำเข้ากาซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) โดยในส่วนของ ปตท. สร้างคลังนำเข้าแห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตัน/ปี ที่บริเวณ ใกล้ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อกระจายความเสี่ยง หลังพบว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทยมีแนวโน้มลดลง ความจำเป็นในการนำเข้าเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้จึงเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาก่อสร้างคลังแตกต่างกันเพียง 1,000 ล้านบาท ระหว่างเดิม กพช.ให้ศึกษาก่อสร้างจาก 5 ล้านตันกับ ขนาด 7.5 ล้านตัน
“กบง.เห็นชอบทั้งการก่อสร้างคลังนำเข้าแบบลอยน้ำหรือ FSRU ของ กฟผ. ที่ให้ศึกษาขนาด 3-5 ล้านตันต่อปี และ คลังนำเข้าแห่งที่ 2 ของ ปตท.เพื่อเตรียมการไว้รองรับความต้องการในอนาคต โดยคลังของ ปตท.ขนาด 7.5 ล้านตัน คาดว่า จะรองรับความต้องการใช้ได้เพียง 3 ปีเท่านั้น ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างจะพอดีกับความต้องการคใช้ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นหลังจาก 3 ปี จึงมีโอกาสที่จะก่อสร้างคลังแห่งใหม่เพิ่มเติม จึงมอบหมายให้ทั้ง 2 หน่วยงานดำเนินการศึกษาเรื่องพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มเติมไว้ด้วยโดย เรื่องนี้จะนำเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือนหน้า”พลเอกอนันตพรกล่าว
ส่วนมติคณะกรรมการ บมจ.ปตท. ที่เสนอโครงการตั้งบริษัทลูก “พีทีทีโออาร์” เพื่อทำธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะโดย ปตท.ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวต่ำกว่าร้อยละ 50 นั้น เรื่องดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อการกำกับดูแลราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ เนื่องจากบริษัทแม่จะยังเป็นผู้กำกับดูแลบริษัทใหม่ จึงยังมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการธุรกิจ โดยมติดังกล่าวจะมีความชัดเจนหลังเดือนเมษายนปีหน้า ที่จะมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ปตท.
พลเอกอนันตพร ยังกล่าวถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มีอยู่มากถึงร้อยละ 30 ในขณะที่ กลุ่ม กัลฟ์ ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ ( ไอพีพี) รอบ 3 จำนวน 5,000 เมกะวัตต์ ล่าสุดกระทรวงพลังงานส่งตัวแทนไปเจรจาแล้ว โดยจะขอให้ชะลอการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบออกไปก่อน เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยมีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 30 จากเกณฑ์ปกติอยู่ที่ร้อยละ 15 ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงจะกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า โดยคาดว่าจะสรุปได้ในปลายปี 2559
อย่างไรก็ตาม หากมองภาพรวมปริมาณสำรองไฟฟ้าอยู่ในระดับสูงจริง แต่รายภูมิภาค เช่น ภาคใต้ มีภาวะปริมาณผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ มีความเสี่ยง จึงขอให้ผู้ที่เห็นต่างเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินพิจารณาในทุกมิติ อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานยืนยันว่า การเจราจาหรือการพิจารณาเรื่องต่างๆจะไม่ให้ประเทศไทยเสียเปรียบ และสามารถอธิบายต่อสังคมได้อย่างแน่นอน
ส่วนการประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและแหล่งบงกชที่จะหมดอายุสัมปทานปี 2565-2566 ยืนยันว่า การแก้ไข พรบ.ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะพิจารณาเสร็จสิ้น พร้อมให้เปิดการประมูลทั้ง 2 แหล่งในปีหน้าแน่นอน แต่หากไม่ทันเดือนมีนาคมปีหน้า ก็เป็นการไม่ทันในแผนระยะสั้นเท่านั้น แต่แผนระยะกลางทันเวลาแน่นอน เพราะวางแผนไว้ว่าจะเปิดประมูลในปี2560-สำนักข่าวไทย