สำนักงาน กกต.16 ม.ค.- กกต.ชะลอเซ็นต์สัญญาว่าจ้าง “อำพล” เป็นเลขา กกต. หลังมีข่าวถูกร้องเรียน ทำหนังสือสอบถาม ป.ป.ช.อีกรอบก่อนตัดสินใจ ยืนยันกระบวนการสรรหาไม่ได้ประมาทเลินเล่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 15.00 น. นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พร้อมนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง แถลงภายหลังการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงการทำสัญญาจ้าง นายอำพล วงศ์ศิริ ที่กกต.มีมติเมื่อวันที่ 13 มกราคม คัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต. คนใหม่ แต่ปรากฎว่ามีการนำเสนอข่าวทางสื่อว่า นายอำพล ถูก ป.ป.ช.สอบสวนสมัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กรณีแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักเลขาธิการ และ ผอ.สำนักนโยบายยุทธศาสตร์ ป.ป.ท. โดยไม่ชอบ ซึ่งเรื่องดังกล่าว กกต.เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ การพิจารณาแต่งตั้งควรเป็นไปด้วยความรอบรอบ เป็นประโยชน์กับสำนักงาน เพราะเลขา กกต. เป็นตำแหน่งแม่บ้านต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง ซื่อสัตย์สุจริต
นายศุภชัย กล่าวว่า ที่ประชุมกกต. จึงมีมติ 1.ให้สำนักงานมีหนังสือไปยังสำนักงานป.ป.ช. คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวว่า มีข้อเท็จจริงอย่างไร และอยู่ในขั้นตอนใดของการสอบสวน ถือว่าเป็นการให้ความเป็นธรรมกับนายอำพล และเพื่อประโยชน์สูงสุดของสำนักงาน กกต. รวมทั้งขอให้ชี้แจงว่าก่อนหน้านี้ในชั้นการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นเลขาธิการ กกต. ที่ กกต.ขอข้อมูลผู้สมัครไปยังหน่วยงานต่างๆ ซึ่งรวมถึงนายอำพล เหตุใด ป.ป.ช. จึงมีหนังสือตอบกลับมาครั้งแรกระบุว่านายอำพล มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด คาดว่าจะได้รับหนังสือแจ้งผลภายใน 15 วัน
ประธาน กกต. กล่าวว่า 2.ในระหว่างการตรวจสอบจากทั้งสองหน่วยงาน ให้สำนักงาน กกต. ชะลอการลงสัญญาจ้างออกไปก่อนเพื่อให้เกิดความถูกต้องโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ กกต.และเป็นธรรมแก่นายอำพลด้วย เมื่อได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้ว กกต.จะมีการประชุมอีกครั้งเพื่อดำเนินการต่อไป
“การดำเนินการของ กกต.ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ มีการดำเนินการอย่างรอบคอบ เพราะในครั้งแรกได้มีการสอบถามและได้รับคำตอบแล้วว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน”นายศุภชัยกล่าวว่า
ด้านนายสมชัย กล่าวว่า ในส่วนของ กกต.ได้หารือเบื้องต้นแล้วว่า หากเป็นกรณีของการทุจริตเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องการร้องเรียนที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลก็ต้องมาพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง แต่ทั้งหมดต้องดูคำตอบจาก ป.ป.ช.ก่อนว่าการพิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนใด ซึ่งยังไม่สามารถตอบได้ว่าถ้าที่สุด กกต.มีมติไม่ทำสัญญาแล้วจะต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่หรือไม่ แต่แม้ที่สุดถ้ามีการลงนามสัญญาจ้างกัน ทำงานกันแล้ว 3 ปี 5 ปี ป.ป.ช.มีการชี้มูลตามกระบวนการผู้นั้นก็ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่ใช่ความผิดของผู้ว่าจ้าง หรือจะต้องมาถามคนแต่งตั้งต้องรับผิดชอบอย่างไร เพราะ ตอนที่แต่งตั้งยังไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น .-สำนักข่าวไทย