สถาบันพระปกเกล้า 17 ส.ค.-“สมชัย” แจงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ไม่เห็นด้วย set zero พรรคการเมือง พร้อมเสนอ 3 หลักการจัดตั้งพรรคการเมืองในอนาคต ตั้งยาก อยู่ง่าย ยุบยาก
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บรรยายพิเศษ เรื่องระบบการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ให้กับนักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 20 สถาบันพระปกเกล้า ว่า หัวใจสำคัญของการเลือกตั้ง คือ การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. , ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. , ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งกฎหมายทั้ง 4 ฉบับจะเป็นตัวกำหนดหน้าตาของการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปลายปี 2560 โดยกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ถือเป็นการคัดกรองคนดีเข้าสู่สภา ซึ่งต้องกำหนดรายละเอียด วิธีการได้มา เช่น จะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งมีต้นทุนต่ำ คือ ผู้สมัครทุกคนสามารถเข้าไปแข่งขันในทางการเมืองได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนมาก
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับแนวคิด set zero พรรคการเมือง เพราะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องให้พรรคการเมืองไปเริ่มต้นจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองกันใหม่ แต่เห็นว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองในอนาคต ควรอยู่ภายใต้ 3 หลักการ คือ ตั้งยาก อยู่ง่าย ยุบยาก เพราะกฎหมายที่ผ่านมา เราให้พรรคการเมืองตั้งง่ายจึงเกิดพรรคการเมือง 70-80 พรรค อีกทั้งยังต้องให้พรรคการเมืองส่งรายงานและส่งบัญชีค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องอยู่กับงานธุรการ เป็นต้น
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ควรวางกลไกการสรรหาขั้นต้น โดยให้ กกต.เลือกคนที่มีคุณภาพก่อนให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจากกลุ่มนี้ และการสรรหา ส.ว.ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง 15 วัน
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น นายสมชัย กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพิ่ม กกต.เป็น 7 คน โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นองค์กรที่มีคุณภาพ และยังเปลี่ยนรูปการทำงานของ กกต. ให้เหมือนองค์กรอื่นในรูปแบบของบอร์ด ไม่ใช่แยกกันกำกับดูแล ดังนั้นตนมีแนวคิดที่จะเสนอที่ประชุม กกต.ว่าจะทดลองการทำงานในรูปแบบบอร์ด เพื่อดูอุปสรรค ปัญหา ผลดี ผลเสีย เพราะตลอด 18 ปีที่ผ่านมา กกต.ทำงานแบ่งด้านความรับผิดชอบมาโดยตลอด.-สำนักข่าวไทย