ภูมิภาค 17 ม.ค. – ฝนตกหนักตลอดคืน ทำให้ระดับน้ำที่ท่วมขังใน 3 อำเภอ จ.สุราษฎร์ธานี ยังทรงตัว ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ป่าต้นน้ำเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำป่า ส่วนสถานศึกษาหลายแห่งในพื้นที่น้ำท่วมยังเปิดเรียนไม่ได้
ระดับน้ำใน อ.เคียนซา บ้านนาเดิม และ อ.พุนพิน เช้านี้ยังทรงตัวอยู่ที่ 1-3 เมตร ชาวบ้านยังต้องอาศัยบนถนนเอเชีย 41 สุราษฎร์ธานี-ตะกั่วป่า เป็นที่พักต่อไปอีก ฝนที่ตกหนักตลอดทั้งคืนทำให้ระดับน้ำไม่มีทีท่าจะลดลง ส่วนสะพานข้ามคลองคลองสระยาวที่ชาวบ้านกว่า 1,000 ครอบครัว ต้องใช้สัญจรนำพืชผลทางการเกษตรออกมาขายถูกน้ำเซาะขาด ยังไม่สามารถใช้การได้ ชาวบ้านต้องอ้อมไปใช้เส้นทางอื่นซึ่งไกลหลายสิบกิโลเมตร และลำบาก ล่าสุดชาวบ้านนำต้นหมากมาสร้างสะพานเพื่อแก้ไขปัญหาชั่วคราว
พื้นที่ 2 อำเภอ คือ กันตรัง และ อ.เมือง จ.ตรัง ชาวบ้านกว่า 100 หลังคาเรือน ยังถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร โดยเฉพาะ ต.บางรัก นาตาล่วง และหนองตรุด ซึ่งเป็นแอ่งกระทะและติดกับพนังกั้นน้ำตรังที่ทรุดตัวลงมาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้น้ำจากแม่น้ำตรังไหลเข้าท่วม 2 หมู่บ้านนานกว่าครึ่งเดือน ชาวบ้านต้องใช้เรือสัญจรเข้า-ออกหมู่บ้าน และเดินลุยน้ำออกไปเก็บผัก หาปลาประทังชีวิต
ด้านนางสุจิตรา พัฒนะภูมิ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เขต 7 เรียกประชุมผู้บริหารเขตการ ศึกษา ทั้งสังกัดมัธยมศึกษาและประถมศึกษาในจังหวัดตรังกว่า 50 คน เพื่อประเมินความเสียหายของสถานศึกษา พบว่าทั้งอุปกรณ์การเรียน อาคารเรียนของโรงเรียนเสียหายทั้งหมด 29 แห่ง มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท
นอกจากนี้ นางสุจิตรายังได้ลงพื้นที่โรงเรียนวัดไพรสน ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักที่สุด พร้อมมอบเงิน 10,000 บาท ให้กับผู้อำนวยการวัดไพรสนไว้ฟื้นฟูอาคารเรียนในเบื้องต้น และถุงยังชีพให้กับเด็ก ๆ
เช่นเดียวกับพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา โรงเรียนหลายแห่งต้องหยุดการเรียนการสอนนานกว่า 2 สัปดาห์ เนื่องจากถูกน้ำท่วมขังนาน อย่างโรงเรียนวัดคูขุด แม้ว่าระดับน้ำจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ครู นักเรียนยังต้องช่วยกันทำความสะอาดโรงเรียนและเร่งฟื้นฟูอาคารเรียน รวมทั้งอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน
สำหรับภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมทั้ง 5 อำเภอ ริมทะเลสาบสงขลา ยังมีน้ำท่วมขังในหมู่บ้านตลอดแนวชายฝั่งทะเลสาบสงขลาทั้ง 5 อำเภอ หนักที่สุด คือ อ.ระโนด กระแสสินธุ์ และสทิงพระ บางหมู่บ้านระดับน้ำสูงกว่าครึ่งเมตร. – สำนักข่าวไทย