กรุงเทพฯ 18 ม.ค.-ในเวทีเสวนา “เศรษฐกิจไทยกำลังจะดี เเรงงานก็มีอนาคต” นักวิจัยเผยต้องเพิ่มเเรงงานฝีมืออีกกว่า 14 ล้านคน เเละต้องสอดคล้องกับทิศทางตลาดเเรงงานใหม่เพื่อไม่ให้อัตราคนว่างงานเพิ่มขึ้น
มูลนิธิพิพิธภัณฑ์เเรงงานไทย จัดเวทีสัมมนาวิชาการเศรษฐกิจกับเเรงงานปี2560 “เศรษฐกิจไทยกำลังจะดี เเรงงานก็มีอนาคต” เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเเละกำหนดทิศทางในการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังภาครัฐมีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจเเละเเรงงานอาทิ เเผนพัฒนาเศรษฐกิจเเละสังคมเเห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 รวมทั้งเเผนเเม่บทด้านเเรงงานพ.ศ.2560-2564 ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเเรงงาน ทุกภาคอุตสาหกรรมได้อย่างไร
นายยงยุทธ เเฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเเรงงาน สถาบัน วิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจปี 2560 พบว่ายังคงผันผวน จะมีเเนวโน้มการขยายตัวใกล้เคียงปี 2559 คือร้อยละ 3.2 สำหรับเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเเละบริการที่เน้นนวัตกรรมเเละเทคโนโลยีจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องยกระดับเเรงงานเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการเเข่งขันของประเทศ เเต่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กำลังเเรงงานที่มีอยู่มีเเนวโน้มลดลงในอนาคต เเต่จำนวนเเรงงานในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 1.14 เนื่องจากเเนวโน้มของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเเรงงานในภาคอุตสาหกรรม
นายยงยุทธ กล่าวต่อว่า ด้านคุณภาพของเเรงงานมีอัตราการเติบโตต่ำ ขาดเเคลนเเรงงานในระดับล่าง(ระดับมัธยมศึกษาหรือต่ำกว่า)เป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถสร้างงานให้เเรงงานระดับอุดมศึกษาได้ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากภาคการศึกษาไม่สามารถผลิตกำลังคนที่ตรงกับความต้องการได้ อีกทั้งเเรงงานไทยมีอายุเฉลี่ยที่สูงเป็นอันดับสองในอาเซียน ทั้งมีจำนวนเเรงงานสูงเป็นอันดับสี่ของอาเซียนเเต่ทักษะกลับต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์เเละมาเลเซียที่มีจำนวนเเรงงานน้อยกว่า จึงเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนธุรกิจที่เน้นนวัตกรรม พัฒนาทักษะเเรงงานอย่างต่อเนื่อง ภาคการศึกษา เน้นพัฒนาด้านสะเต็มศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน
ทั้งนี้ ในปีนี้คาดเงินเดือนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5.5-6 อีกทั้งให้ปฏิรูปประกันสังคมให้มีความยืดหยุ่น ปฏิรูปกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ เเละกฎหมายคุ้มครองเเรงงาน ควรบังคับให้สถานประกอบกลางขนาดกลางเเละใหญ่มีโครงสร้างเงินเดือนภาคบังคับ เเละสนับสนุนให้เเรงงานสามารถทำงานได้อย่างน้อย 60 ปี เพื่อบรรเทาปัญหาเเรงงานลดลง
ขณะที่ความท้าทายด้านเเรงงายตามนโยบายไทยเเลนด์ 4.0 คือต้องยกระดับเเรงงานฝีมือให้ได้ร้อยละ 48 หรือมากกว่า 18 ล้านคนซึ่งปัจจุบันมีเพียง 5.47 ล้านคน เพราะหากไม่ได้รับการเพิ่มทักษะให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดเเรงงานใหม่ในที่สุดก็จะกลายเป็นคนว่างงาน .-สำนักข่าวไทย