กระทรวงคลัง 20 ม.ค. – คลังพร้อมรับมือความเสี่ยงตลาดเงินโลก ลุ้น “ทรัมป์” ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ระบุสภาพคล่องในระบบ 1.4 ล้านล้านบาท ยังรองรับการกู้เงินลงทุนในประเทศไม่มีปัญหา
นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า นายทรัปม์จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันนี้ หลังจากนั้นคงประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ตลาดมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากปี 59 ตลาดตราสารหนี้ขยายตัวร้อยละ 7 มีมูลค่าตลาดรวม 1.58 ล้านล้านบาท โดยในช่วง 3 ไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนได้มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาจำนวนมาก ขณะที่นักลงทุนในประเทศ ทั้งนักลงทุนรายใหม่ และรายเดิมขยายการลงทุนได้ระดมทุนในตลาดตราสารหนี้สูงถึง 7 แสนล้านบาท
ดังนั้น จึงต้องติดตามประกาศนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น รวมทั้งการส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 สัปดาห์ผ่านมาผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรได้ปรับลดลง ยอมรับว่าตลาดตราสารหนี้มีความผันผวนค่อนข้างสูง ขณะนี้พันธบัตรอายุ 10 ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 2.7 ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยของตลาดรวมประมาณร้อยละ 3.6 และในปีนี้ภาคเอกชนได้มีแผนขยายการลงทุนเพิ่ม อาจเข้ามาระดมทุนในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น เมื่อรวมกับการกู้เงินขอรัฐบาล 1.6 แสนล้านบาทในการจัดทำงบกลางเพิ่มในปี 60 และการกู้เงินของเอกชน สภาพคล่องในปัจจุบัน 1.4 ล้านล้านบาทยังพอรับได้กับความต้องการใช้เงินในระบบ
ส่วนการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ 60 ครั้งที่ 1 วงเงิน 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี และรุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ร้อยละ 2.56 ต่อปี จำหน่ายระหว่างวันที่ 13 ธันวาคม 2559 – 21 เมษายน 60 จำหน่ายให้นักลงทุนรายย่อย และประชาชนทั่วไป และเป็นทางเลือกในการลงทุน จำหน่ายผ่าน ธนาคารกรุงไทย กรุงเทพฯ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ปัจจุบันจำหน่ายได้แล้ว7,200 ล้านบาท เหลือ 7,800 ล้านบาท คาดว่าจำหรน่ายได้หมดตามจำนวน สำหรับสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 59 มีจำนวน 5.944 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 42.39 ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะคงค้างลดลง 40,948 ล้านบาท เนื่องจากการชำระคืนเงินกู้ของแบงก์รัฐและรัฐวิสาหกิจ .-สำนักข่าวไทย