กทม. 15 พ.ย.- เฟซบุ๊ก ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดรายละเอียดความหมาย-ข้อมูลของสัญลักษณ์ และภาพที่ปรากฏอยู่บนธนบัตรที่ระลึกในรัชกาลที่ 9 ทั้ง 3 ชุด ได้แก่ ธนบัตรที่ระลึก 50 ปี ครองราชย์, ธนบัตรที่ระลึก 84 พรรษา รัชกาลที่ 9 และ ธนบัตรที่ระลึก 70 ปีที่ทรงครองราชย์
► ธนบัตรที่ระลึก 50 ปี ครองราชย์
นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ของปวงชนชาวไทย พระองค์ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจและที่สรรเสริญยกย่องของประชาชนทุกหมู่เหล่า ด้วยเพราะพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของมหาราชกษัตริย์ ซึ่งดำรงอยู่ในธรรมาภิบาล เพียบพร้อมด้วยคุณูปการและพระปรีชาสามารถ อีกทั้งยังทรงยึดถือความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรเป็นที่ตั้ง โดยทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตลอดมา ดังนั้น ในปี 2539 แบงก์ชาติจึงได้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และเป็นสิ่งย้ำเตือนให้ประชาชนได้ระลึกถึงพระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพของพระองค์
ธนบัตรที่ระลึกแบบพิเศษ ชนิดราคา 500 บาท เริ่มจ่ายแลกเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2539 จำนวน 1,000,000 ฉบับ ทุกฉบับมีเลข 50 นำหมวดเลขหมาย ซึ่งหมายถึง 50 ปีแห่งการครองราชย์ และเป็นธนบัตรที่มีการพิมพ์บนวัสดุพอลิเมอร์เป็นครั้งแรก
จุดที่ 5 ผนึกฟอยล์สีทองพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ล้อมรอบด้วยพื้นที่ใสซึ่งมองทะลุผ่านได้ โดยปริมณฑลหลังพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์จะเปลี่ยนสีสะท้อนแสงวาววับเมื่อพลิกธนบัตรไปมา เรียกว่า Optically Variable Device (OVD) นับเป็นครั้งแรกที่นำมาใช้เพื่อเพิ่มความสวยงามและเป็นลักษณะพิเศษต่อต้านการปลอมแปลง ความสุกสว่างของ OVD สีทองสื่อความหมายแห่งพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ภายในเนื้อวัสดุ มีรูปตราจักรีซ่อนอยู่ที่เบื้องขวาของพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ มองเห็นได้ทั้งสองด้านเมื่อยกธนบัตรขึ้นส่องดูกับแสงสว่าง
การดูแลทุกข์สุขของราษฎรทั่วราชอาณาจักรเป็นพระราชภาระที่สำคัญ ในการเสด็จทรงงานแต่ละครั้ง พระองค์จึงทรงใช้อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อบันทึกข้อมูลและติดตามสถานการณ์ ได้แก่ แผนที่ ดินสอ กล้องถ่ายรูป และวิทยุสื่อสาร
ทรงมีความเชื่อมั่นว่า เมื่อใดที่สามารถแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องน้ำเพื่อการบริโภคและอุปโภคแล้ว เมื่อนั้นราษฎรย่อมจะมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม พระองค์จึงโปรดให้จัดตั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศเกือบพันโครงการ
จุดที่ 10 ด้วยพระองค์ทรงตระหนักถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของผิวดิน จึงมีพระราชดำริในการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก ทำให้สามารถใช้ที่ดินนั้นทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ได้ ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำด้วย และเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2536 ธนาคารโลกได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลรากหญ้าแฝกชุบทองสำริด ซึ่งเป็นรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณในฐานะผู้อนุรักษ์ดินและน้ำดีเด่น
จุดที่ 11 ทรงริเริ่มให้มีการพัฒนาที่ดินว่างเปล่าเพื่อจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน รวมทั้งโปรดให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเพื่อหาวิธีการเพาะปลูกให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ทรงเน้นให้เพาะปลูกพืชที่เป็นที่นิยมของตลาด เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของท้องถิ่น ควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม
► ธนบัตรที่ระลึก 84 พรรษา รัชกาลที่ 9
ในปี 2554 แบงก์ชาติได้พิมพ์ธนบัตรธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ชนิดราคา 100 บาท จำนวน 9,999,999 ฉบับ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและร่วมเผยแผ่พระเกียรติคุณ พระบุญญาธิการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การออกแบบมีความสวยงาม โดดเด่น และมีความพิเศษแตกต่างจากธนบัตรทั่วไป คือ ขนาดธนบัตรกว้าง 84 มิลลิเมตร หมายถึงพระชนมพรรษา 84 พรรษา ยาว 162 มิลลิเมตร เมื่อบวกตัวเลขความยาวธนบัตร (1+6+2) ผลรวมจะเท่ากับ 9 หมายถึง รัชกาลที่ 9
ธนบัตรด้านหน้ามีภาพประธาน เป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบนลายพื้นสีเหลือบทอง ธนบัตรทุกฉบับมีเลข 9 นำหน้าหมวดอักษรไทย ธ ซึ่งหมายถึง พระมหากษัตริย์ ตามด้วยเลขหมายจำนวน 7 หลัก
จุดที่ 4 ทรงเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของราษฎร ดังกระแสพระราชดำรัส “…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้…”
จุดที่ 5 ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข ทรงพัฒนาพื้นที่บนเขาโดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ที่เป็นแหล่งปลูกฝิ่น ให้เป็นพื้นที่การเกษตร สนับสนุนและอบรมให้กลุ่มชาวเขาปักหลักอยู่กับที่ หยุดการทำไร่เลื่อนลอย เลิกการปลูกฝิ่น และหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจแบบเมืองหนาวแทน
จุดที่ 6 ทรงศึกษาดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งยังทรงเครื่องดนตรีได้หลายชนิดตั้งแต่เปียโน กีตาร์ ฟลุต ไวโอลิน ฯลฯ แต่ที่โปรดมาก คือ แซ็กโซโฟน คลาริเน็ต และทรัมเป็ต นอกจากนี้ ยังทรงพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์ทำนอง คำร้อง เป็นบทเพลง ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงที่ไพเราะยิ่งกว่า 40 เพลง ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีอันเป็นที่ประจักษ์ สถาบันการดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายประกาศนียบัตรเกียรติคุณชั้นสูง โดยให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ และจารึกพระปรมาภิไธยบนแผ่นหินอ่อนของสถาบัน เมื่อพุทธศักราช 2507 นับว่าทรงเป็นชาวเอเชียพระองค์แรกที่เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสถาบันการดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” ในฐานะที่ทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งปวง เมื่อพุทธศักราช 2529
จุดที่ 9 ฝนหลวง เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชดำริขึ้น เมื่อพุทธศักราช 2498 ในขณะที่เสด็จเยี่ยมประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงพบเห็นความทุกข์ยากของราษฎรอันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของฝนธรรมชาติ จึงทรงคิดวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการทำฝนหลวง ทรงคิดประดิษฐ์ภาพตำราฝนหลวง และเทคนิคการโจมตีเมฆแบบใหม่ที่เรียกว่า “ซูเปอร์แซนด์วิช” ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้เกิดฝนตกอย่างหนักและได้ปริมาณน้ำฝนมากยิ่งขึ้น และโครงการพระราชดำริฝนหลวงนี้ยังได้รับรางวัลเหรียญทองเชิดชูเกียรติ และหนังสือประกาศเกียรติคุณในฐานะเป็นโครงการดีเด่นด้านสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน จากงานแสดงนิทรรศการและการประกวดนวัตกรรมทางเทคโนโลยี Brussels Eureka 2001 ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อพุทธศักราช 2544
จุดที่ 8 โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่าง จ.พิษณุโลก รวมถึงพื้นที่บางส่วนของ จ.พิจิตร ที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ทั้งยังเจอปัญหาอุทกภัยรุนแรงที่สร้างความเสียหายให้พื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เศรษฐกิจของ จ.พิษณุโลกเป็นประจำทุกปี “เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน” เป็นชื่อพระราชทาน มีความหมายว่า เขื่อนแควน้อยที่ทำให้มีความเจริญขึ้นในเขตพื้นที่
► ธนบัตรที่ระลึก 70 ปีที่ทรงครองราชย์
แบงก์ชาติได้จัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 ชนิดราคา 70 บาท จำนวน 20 ล้านฉบับ และจ่ายแลกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยแนวคิดการออกแบบ “จากวันนั้น…ถึงวันนี้ 70 ปี ที่ทรงครองราชย์” เพื่อน้อมนำจิตใจของปวงชนชาวไทยให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการตลอด 70 ปี ทั้งยังเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทั่วทุกแห่งของประเทศ แม้ในถิ่นทุรกันดาร เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนและหาแนวทางในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข จนเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทยและทั่วโลกว่า ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงปกป้องคุ้มครองประเทศชาติและประชาชนให้ร่มเย็นเป็นสุขเสมอมา และพระองค์จะทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งแผ่นดินตราบนิรันดร์
ภาพประธานแสดงถึงความสง่างาม ความเป็นพระมหากษัตริย์ พระบุญญาบารมี และมีความใกล้เคียงกับช่วงพระชนมพรรษาในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงยืนเบื้องหน้าพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
พระที่นั่งภัทรบิฐเป็นพระราชอาสน์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชประทับทรงรับการถวายสิริราชสมบัติและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นพระที่นั่งสำคัญซึ่งใช้เป็นสถานที่ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ภายในพระที่นั่งประดิษฐานพระราชอาสน์สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยเฉพาะ ได้แก่ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร และพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร
พระบรมสาทิสลักษณ์ที่งดงามนี้วาดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2503-2505 จึงแสดงถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อครั้งที่ทรงเจริญ พระชนมพรรษา 33-35 พรรษา ทรงยืนเบื้องหน้าพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมสาทิสลักษณ์นี้วาดด้วยสีน้ำมัน มีขนาด 272 X 150 เซนติเมตร ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง
พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์เป็นพระราชอาสน์ที่พระมหากษัตริย์ประทับในงานสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น ทำด้วยไม้แกะสลักหุ้มทองทั้งองค์ มีรูปเทพนมและครุฑประดับ 2 ชั้น พระที่นั่งองค์นี้สามารถเชิญไปทอดบนพระแท่นราชบัลลังก์ในพระที่นั่งต่าง ๆ ได้ และยังใช้เป็นพระราชยานในการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค เรียกว่า พระที่นั่งราชยานพุดตานทอง
พระบรมสาทิสลักษณ์นี้วาดโดย ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ (Raden Basoeki Abdullah) ศิลปินชาวอินโดนีเซีย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสนพระราชหฤทัยในงานศิลปะสมัยใหม่ โดยเฉพาะด้านจิตรกรรม พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ให้มีจิตรกรประจำราชสำนัก ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ เดินทางเข้ามาเป็น จิตรกรประจำราชสำนักไทย ระหว่างพุทธศักราช 2503-2513 โดยปฏิบัติงานทั้งในพระบรมมหาราชวังและพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เนื่องจากศิลปินท่านนี้มีแนวการสร้างสรรค์งานเป็นแบบแนวเหมือนจริง จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เขียนพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศ์ไว้เป็นจำนวนมาก
อักษรพระปรมาภิไธย ภปร. สีเหลืองนวลทอง เป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพ ขอบริมอักษรสีทองบนพื้นสีขาบเข้ม (น้ำเงินแก่) เป็นสีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายในกรอบลายทองปนนากมีลายเนื่องสีทองมากกว่า 70 ดวง เป็นการถวายพระพร ให้ทรงสถิตดำรงในสิริราชสมบัติมากกว่าปีที่ 70 ให้สถาพรโดยสวัสดีเป็นอเนกอนันต์ ยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใด
ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Bank of Thailand