กรมศุลกากร 2 ก.พ.-กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมอุทยานฯ ตรวจยึดเกล็ดลิ่นลักลอบผ่านแดนจากทวีปแอฟริกา ครั้งใหญ่ รวม 2.9 ตัน มูลค่ากว่า100 ล้าน
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร พล.ต.อ. เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมแถลงข่าวการตรวจยึดเกล็ดลิ่น ลักลอบผ่านแดนจากทวีปแอฟริกา จำนวน 2.9 ตัน มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท โดยจับกุม 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2559 เที่ยวบินที่ TK064 เจ้าหน้าที่ได้อายัดสินค้าสำแดงชนิดสินค้าเป็น SCALES (เกล็ด) จำนวน 34ห่อ น้ำหนัก 1,700 กิโลกรัมขนส่งจากเมืองกินชาซา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยผ่านประเทศตุรกีและประเทศไทย ปลายทางเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559 เที่ยวบินที่ TK064 จำนวน 24 หีบห่อ น้ำหนัก 1,200 กิโลกรัม โดยใช้เส้นทางเดิม รวมน้ำหนัก2,900 กิโลกรัม
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้ถือเป็นการจับกลุ่มครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งมีของกลางรวมกว่า 2.9 ตัน มีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ปลายทางอยู่ที่ประเทศจีนและเวียดนามเพราะมีความเชื่อกันว่าเกล็ดลิ่น เป็นยารักษาโรค เป็นยาอายุวัฒนะ และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ รวมทั้งเนื้อ ของตัวลิ่นก็สามารถจำหน่ายและนิยมบริโภคพวกอย่างแพร่หลาย โดยประเทศไทยเป็นเพียงทางผ่าน โดยเกล็ดลิ่นของกลาง ทั้งหมดจะนำไปตรวจสอบว่าสายพันธุ์ ใด หากเป็นตัวลิ่นสายพันธุ์จีนหรือชวาเป็นสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ตามบัญชีหนึ่งของไซเตส ก็จะดำเนินคดี พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ 2535 ทั้งนี้ ตัวลิ่นทั่วโลกมีทั้งหมด 8 ชนิดเป็นสายพันธุ์แอฟริกา 4 ชนิด และเป็นสายพันธุ์ตามบัญชีของไทย 2 ชนิดคือ จีนและชวา โดยระยะต่อไป ทั้ง 3 หน่วยงานได้ประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อตรวจสอบและดำเนินการกับขบวนการค้าสัตว์ป่าทุกชนิดอย่างเข้มข้น
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบัน กรมศุลกากรได้ตรวจยึดเกล็ดลิ่นจากทวีปแอฟริกามาแล้ว จำนวน 9 คดี น้ำหนักของกลางรวม 3.4 ตัน มูลค่ากว่า 35 ล้านบาท คดีส่วนใหญ่มีต้นทางจากประเทศไนจีเรีย ผ่านประเทศตุรกี ประเทศไทย เพื่อไปยังปลายทาง สปป.ลาว
ส่วนสถานการณ์การลักลอบค้าลิ่นและเกล็ดลิ่นในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ลิ่นเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ครั้งที่ 17 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 กันยายน –5 ตุลาคม 2559 ณ นครโจฮันเนสเบิร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ที่ประชุมจึงมีมติให้ปรับระดับลิ่นขึ้นเป็นสัตว์ในบัญชี 1ของอนุสัญญา CITES ซึ่งห้ามนำเข้า ส่งออกและนำผ่านอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับงาช้าง นอแรด เสือ โดยให้มีผลบังคับเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 และได้มีข้อตัดสินใจที่กำหนดให้มีการบังคับใช้กฎหมายในการจัดการการค้าลิ่นผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด และเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและระหว่างประเทศ เพื่อร่วมมือในการดำเนินการและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเส้นทางการค้า รูปแบบ และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อต่อสู้กับการค้าลิ่นผิดกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย