กรุงเทพฯ 3 ก.พ.-หลายปีมานี้ประเทศไทยเจอกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในหลายพื้นที่ แต่จะทำอย่างไรให้ลดการสูญเสียให้มากที่สุด การเตรียมการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ บูรณาการข้อมูลให้วิเคราะห์ข้อมูลใช้น้ำอย่างเป็นระบบจึงมีขึ้น จะเป็นอย่างไร ติดตามจากรายงาน
ตลอด 2 ปี 8 เดือน ในการเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เผชิญกับภัยธรรมชาตินับครั้งไม่ถ้วน ถือเป็นปัญหาใหญ่ในการทำงาน อีกเรื่องหนึ่งไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมในปี 2558 จากพายุหว่ามก๋อ และฝนแล้ง ที่ยาวนานต่อเนื่องในปี 2558 และ 2559 ล่าสุดฝนตกหนักต่อเนื่องในภาคใต้ ถือเป็นอุทกภัยที่หนักที่สุดในรอบหลายสิบปี
การตรวจเยี่ยมและติดตามงานของศูนย์เมฆขลา กรมทรัพยากรน้ำ และคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพของศูนย์เมฆขลา ซึ่งมีเป้าหมายที่จะยกระดับศูนย์แห่งนี้ให้เป็นศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ และหากทำสำเร็จจะถือเป็นครั้งแรกที่ทำให้การบูรณาการข้อมูลน้ำเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงง่าย สามารถวิเคราะห์เพิ่มประสิทธิภาพระบบการเฝ้าระวัง และเตือนภัยที่เกิดจากน้ำ รองรับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วางแผนการใช้น้ำได้อย่างเป็นระบบ ทั้งเพาะปลูก อุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ลดความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นในอดีตให้ลดลง โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซาก
ขณะที่คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ที่เก็บข้อมูลจาก 34 หน่วยงาน สามารถช่วยสนับสนุนการประเมินสถานการณ์น้ำ คาดการณ์สภาพภูมิอากาศได้ล่วงหน้า 6-7 เดือน และพยาการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำล่วงหน้าถึง 3 วัน ลดความสูญเสีย โดยที่นี่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยติดตามสถานการณ์แบบเรียลไทม์ได้ สร้างโมเดลวิเคราะห์ คาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้าได้ สนับสนุนการแก้วิกฤติภัยธรรมชาติผ่านโปรแกมวิเคราะห์ข้อมูล
แต่การแก้ปัญหาน้ำที่ถูกต้อง ในมุมมองของผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศและทรัพยากรน้ำและการเกษตรมองว่า นอกจากการมีข้อมูลที่ดีที่คาดการณ์ได้แล้ว ควรแยกแผนบริหารจัดการน้ำและแผนพัฒนาน้ำออกจากกัน เพราะที่ผ่านมาถูกนำมารวมกัน ทั้งที่การทำงานต่างกัน และใช้งานคนไม่เหมือนกัน ทำให้การแก้ปัญหาทำได้อย่างไม่ตรงจุด จากการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
แต่ถือเป็นข่าวดีคือจากข้อมูลพบว่า ในรอบปีนี้สถานการณ์น้ำยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่แล้งหนัก น้ำในเขื่อนทางภาคเหนือมีปริมาณ 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และจากข้อมูลไม่พบการเกิดพายุใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เพียงแต่ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้น้ำจากการทำนาปรังให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม.-สำนักข่าวไทย