รัฐสภา 6 ก.พ.-ที่ประชุมกมธ.สปท.ปฏิรูปสื่อฯพิจารณาข้อสังเกตุของวิปสปท. ย้ำจะพิจารณาอย่างรอบคอบแต่รวดเร็ว ระบุ ถือเป็นประเด็นสำคัญระดับ 3 ดาว
พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …โดยนำข้อสังเกตจากวิปสปท. มาพิจารณา 6 ประเด็น คือ 1.ความสอดคล้องของชื่อร่างกฎหมายกับเนื้อหาสอดคล้องกันหรือไม่ ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ ยังยืนยันที่จะใช้ชื่อร่างเดิม 2.) กรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ควรปรับสัดส่วนหรือไม่ ซึ่งมีการพูดคุยกันมากในที่ประชุม และยินดีรับฟังความเห็นที่หลากหลายทั้งหมด จึงมอบให้สมาชิกคณะกรรมาธิการฯไปคิดเป็นการบ้าน
“3.การลดจำนวนกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นตัวแทนภาครัฐ 4.รายละเอียดการปรับปรุงบทบัญญัติในมาตรา 85 ที่ไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหาย กรณีได้รับผลกระทบจากสื่อ ให้สามารถเรียกร้องต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนได้ 5. เรื่องใบอนุญาตที่จะพิจารณาว่าควรจะมีหรือไม่หรือเป็นรูปแบบอื่น เพราะสื่อมีลักษณะเฉพาะ ไม่เหมือนองค์กรวิชาชีพอื่น และเป็นไปตามแนวทางสากล และ6. ระมัดระวังการกำหนดบทบัญญัติในกฎหมายนี้ ไม่ให้จัดต่อร่างรัฐธรรมนูญ” พล.อ.อ.คณิต กล่าว
พล.อ.อ.คณิต กล่าวว่า ประเด็นทั้งหมดนี้คณะกรรมาธิการฯ จะนำไปศึกษาเพิ่มเติมและจะพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแต่รวดเร็ว เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนระดับ 3 ดาว ของคณะกรรมาธิการฯ ที่จะแจ้งต่อประธานสปท.พรุ่งนี้ (7 ก.พ.) ตามที่หารือเชิงปฏิบัติการในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง(ป.ย.ป.) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และจะพิจารณาให้เสร็จเพื่อส่งต่อคณะกรรมาธิการภายในเดือนนี้ ส่วนสื่อมวลชนซึ่งเป็นอนุกรรมาธิการฯ ลาออกไปเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ แต่ทางคณะกรรมาธิการฯ พร้อมร่วมทำงานกับทุกฝ่าย
ด้านพล.ต.ต. พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนสัดส่วนกรรมการในสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ว่า อาจให้สื่อมวลชนเป็นผู้เลือกกันเองทั้งหมด หรืออาจให้มีเจ้าหน้าที่ที่ไม่อยู่ในการควบคุมของรัฐบาล เช่นมาจากผู้แทนองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อปราศจากการครอบงำของฝ่ายการเมือง.-สำนักข่าวไทย