กทม. 10 ก.พ. – หลังจากกระทรวงสาธารณสุข ผุดไอเดียมีลูกเพื่อชาติ พร้อมแจกวิตามินบำรุงสุขภาพแก่คู่สมรสที่จดทะเบียน เพื่อหวังให้ประชากรเกิดใหม่มีคุณภาพ ลดความพิการ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าประชากรไทยลดลงถึงขนาดนั้นจริงหรือ
มีลูกเพื่อชาติ คำนี้ฟังดูอาจยังรู้สึกเก้อเขินในสังคมไทย แต่ไม่เกินความจริง เพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่บีบคั้นให้คนวัยแรงงาน คิดและไตร่ตรองมีบุตรมากขึ้น เพราะต้องแบ่งทั้งเวลาทำงาน เวลาส่วนตัว เวลาครอบครัว รวมถึงค่าใช้จ่ายในบ้าน ตัวเอง และลูก
สอดรับกับความคิดเห็นของนักประชากรศาสตร์ที่ชี้ว่า แรงกดดันจากสภาพเศรษฐกิจและสังคม เป็นจุดเปลี่ยน วิถีชีวิตสมรส ทำให้หวาดกลัวการเลี้ยงลูก แต่หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ สัดส่วนการเกิดของประชากรไทยจะลดลง สวนทางกับอัตราการตายที่สูงขึ้น โดยปี 2559 ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ 700,000 คน ลดลงจากเดิมที่เคยมีมากถึง 1 ล้านคน ขณะที่มีอัตราตายอยู่ 400,000 คน
ขณะเดียวกัน การสร้างแรงบันดาลในการมีบุตรด้วยมาตรการลดทางภาษี หรือสิทธิประโยชน์ที่เอื้ออำนวยการเลี้ยงดูลูกให้ราบรื่นไม่เหนื่อยยาก ทั้งการเพิ่มวันลาคลอดให้กับหญิงตั้งครรภ์และสามี เรียนฟรีในบางช่วงวัย กลับไม่จูงใจเท่าที่ควร เพราะการมีลูกเป็นเรื่องของความสมัครใจ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดที่น้อยแต่ต้องมีคุณภาพ
การเพิ่มคุณภาพของประชากรเกิดใหม่ต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดแจกวิตามินธาตุเหล็ก และโฟลิก ให้กับหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 20-34 ปี เพื่อให้การมีบุตรที่สมบูรณ์ ลดอัตราพิการแต่กำหนดร้อยละ 3
เพื่อทดแทนวัยแรงงานที่กำลังจะขาดหายอย่างเห็นได้ชัดใน 10 ข้างหน้า ดังนั้นนโยบายมีลูกเพื่อชาติจึงถือว่าเป็นนโยบายที่ไม่เกินความฝัน และสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่ คือ การสร้างคุณภาพให้ประชากรใหม่เพื่อเป็นกำลังสำคัญของชาติ. – สำนักข่าวไทย