กรุงเทพฯ 24 ก.พ. – กกพ.เตือนคนไทยปีนี้ค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มขยับขึ้นทั้งปัจจัยเชื้อเพลิงปรับตามราคาน้ำมัน ค่าเงินอุดหนุนพลังงานทดแทนที่บวกในค่าเอฟทีพุ่งเป็น 23 สตางค์/หน่วย ด้านเม็ดเงินลงทุนใหม่พลังงานทดแทนในช่วง 2-3 ปีนี้คาดสูงกว่า 7 หมื่นล้านบาท กำลังผลิต 1,259 เมกะวัตต์
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ โฆษก กกพ.กล่าวว่า ปีนี้แนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้ามีทิศทางขยับขึ้น ตามทิศทางราคาเชื้อเพลิง โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตามราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน รวมถึงการอุดหนุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่อยู่ในอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ก็จะปรับสูงขึ้น จากปีที่แล้วประมาณ 21 สตางค์/หน่วย มาอยู่ที่ประมาณ 23 สตางค์/หน่วย เนื่องจากการส่งเสริมพลังงานทดแทนเป็นไปตามเป้าหมายและปีที่แล้วโครงการตามนโยบายและโครงการค้างท่อ โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์เข้าระบบจำนวนมาก เงินอุดหนุนจึงปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ ปีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอัตราค่าบริการส่งทางท่อก๊าซหลังไม่ได้ปรับมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 ซึ่งในส่วนนี้ก็จะมีผลต่อต้นทุนราคาแต่ถือว่าเป็นอัตราไม่สูงนัก
ทั้งนี้ ปี 2559 ภาครัฐเร่งส่งเสริมพลังงานทดแทน ทำให้ภาครัฐมีภาระผูกพัน 9,265 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้มีการผลิตเข้าระบบ (COD ) แล้ว 6,722 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แต่ยังไม่ COD จำนวน 2,076 เมกะวัตต์ และตอบรับซื้อแต่ยังไม่ลงนาม PPA จำนวน 467 เมกะวัตต์ ขณะที่ปี 2558 ภาครัฐมีภาระผูกพัน 8,789 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้มี COD แล้ว 4,999 เมกะวัตต์ มี PPA แต่ยังไม่ COD จำนวน 3,332 เมกะวัตต์ และตอบรับซื้อแต่ยังไม่ลงนาม PPA จำนวน 467 เมกะวัตต์
สำหรับปี 2560 โครงการที่จะเปิดรับซื้อที่ขณะนี้รอความชัดเจนจากนโยบายรัฐบาลในภาคส่วนต่าง ๆ จะประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 130 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้มีโครงการ QUICK WIN 78 เมกะวัตต์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดพื้นที่ 8 โครงการ แต่เนื่องจากมีกฎหมายใหม่ คือ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบออกมาก ทาง กกพ.ก็รอคำตอบจากกระทรวงมหาดไทยว่าจะดำเนินการอย่างไร หากยังไม่ชัดเจนก็อาจจะประกาศเลื่อนระยะเวลาสมัครรับซื้อจากวันที่ 1-2 มีนาคม 2560 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
นอกจากนี้ โครงการที่เตรียมรับซื้อใหม่อื่น ๆ ตามนโนยบาย คือ โครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์การเกษตร-ราชการ 519 เมกะวัตต์ โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กแบบ SPP Hybrid Firm และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก แบบ VSPP Semi-Firm รวม 568 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการผลิตไฟฟ้าชีวมวล และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) 42 เมกะวัตต์
“ปีนี้จะทยอยเปิดรับซื้อโครงการพลังงานทดแทนหากรวมทุกโครงการตามนโยบายที่กำหนดก็จะมีปริมาณรวม 1,259 เมกะวัตต์ ทยอยเสร็จตั้งแต่ปี 2561-2563 วงเงินลงทุนแต่ละโครงการประมาณ 50-80 ล้านบาท/เมกะวัตต์ และหากโครงการพลังงานลมเดินหน้าต่อทั้งในพื้นที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.)และอื่น ๆ อีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ดังนั้น เม็ดเงินลงทุนอาจจะสูงกว่า 70,000 ล้านบาท โดยแต่ละโครงการมีการปรับลดเงินอุดหนุนตามต้นทุนเทคโนโลยีที่ลดลงก็เพื่อไม่ให้กระทบค่าไฟฟ้าของภาคประชาชนมากนัก” นายวีระพลกล่าว. -สำนักข่าวไทย