รร.แกรนด์ไฮแอทฯ 24 ก.พ. – สถาบันคุ้มครองเงินฝากสร้างความเชื่อมั่นผู้ฝากเงิน พัฒนาระบบปฏิบัติการจ่ายคืนผู้ฝาก และระบบการชำระบัญชี หวังดูแลผู้ฝากเงินกว่า 70 ล้านราย หลังเปลี่ยนแปลงคุ้มครองเงินฝากจาก 25 ล้านบาท เหลือ 15 ล้านบาท ไม่มีการโยกย้ายบัญชีจากธนาคาร
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ประธานกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แถลงผลการดำเนินงานของสถาบันคุ้มครองเงินฝากในปี 2559 ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 ปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการลงทุนภาครัฐ สร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน รวมทั้งแนวโน้มรายได้เกษตรกรปรับตัวดีขึ้น หนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน
สำหรับเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองสิ้นปี 2559 สถาบันการเงินอยู่ในความคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก 35 แห่ง รวมทั้งสิ้น 70.93 ล้านราย เงินฝากกว่า 11.9 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากอยู่ในวงเงินคุ้มครองไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน 70.85 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 99.90 ของผู้ฝากเงินทั้งระบบ กองทุนคุ้มครองเงินฝากสิ้นปี 2559 มีจำนวน 116,596 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงวงเงินคุ้มครองจาก 25 ล้านบาท เป็น 15 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 พบว่าไม่มีสัญญาณการโยกย้ายเงินฝากออกจากระบบสถาบันการเงิน จากนั้นทยอยลดสัดส่วนการคุ้มครองเหลือ 10 ล้านบาท เหลือ 5 ล้านบาท และเหลือ 1 ล้านบาทในปี 2563 คนมียอดเงินฝาก 1 ล้านบาท มีสัดส่วนถึงร้อยละ 98.21 ยอดเงินฝากทั้งหมด
ภาพรวมระบบสถาบันการเงินปี 2559 มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18.05 จากร้อยละ 17.44 ในปีก่อน และอัตราส่วนเงินกองทุน ชั้นที่ 1 (Tier-1 Ratio) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.08 จากร้อยละ 14.60 ในปีก่อน การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตามเกณฑ์ Basel III อยู่ที่ร้อยละ 175.19 โดยธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งมี LCR สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดที่ร้อยละ 60 อยู่มาก สินเชื่อรวมของระบบสถาบันการเงินสิ้นปี 2559 มีจำนวน 13.64 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.11 เทียบกับปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.71 สำหรับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่อสินเชื่อรวมร้อยละ 2.83 จากร้อยละ 2.56 ในปีก่อน เงินสำรองสินเชื่อยังอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 136.47 ของเอ็นพีแอล ดังนั้น แม้ว่าเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น แต่สถาบันการเงินมีการตั้งสำรองสำหรับสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง
นายกฤษฎา กล่าวว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝากได้นำสัดส่วนร้อยละ 0.46 ไปชำระหนี้ค้างของสถาบันการเงินจากเดิม 1.3 ล้านล้านบาท ลดเหลือ 900,000 ล้านบาท คาดว่าอีก 15 ปี ภาระหนี้กองทุนพื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินคงหมดลงและระดับการดูแลเงินกองทุนอาจต้องรักษาระดับให้เหมาะสมไม่ให้เกิน 200,000 ล้านบาท เพื่อไม่ให้สูงเกินไป สำหรับการดูแลสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งมีเริ่มมีปัญหาบางส่วน กระทรวงคลังและ ธปท.เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาแนวทางการกำกับดูแล เพราะหากดึงเข้ามาเป็นสมาชิกสถาบันคุ้มครองเงินฝากอาจสร้างภาระการนำส่งเงินเข้ากองทุน จึงต้องใช้แนวทางอื่นดูแล
นายสาทร โตโพธิ์ไทย ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์สำคัญปี 2560 สถาบันฯ เดินหน้าพัฒนาระบบจ่ายคืนผู้ฝากให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการจ่ายคืนผู้ฝาก เพราะหากมีสัญญาณปัญหาของสถาบันการเงินทางการจะรีบเข้าไปดูแล เพื่อให้ประชาชนรับรู้ว่ามีผู้ดูแล โดยสถาบันประกันเงินฝากจะทำหน้าที่จ่ายเงินออกไปก่อนหลังได้ยื่นหลักฐานฝากเงินภายใน 30 วัน ขณะนี้ต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมากที่สุด จากเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากสิ้นปี 2559 วงเงิน 116,596 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาทต่อปี จากการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนของสถาบันการเงินร้อยละ 0.01 ของยอดเงินฝาก ยอดปัจจุบันจึงมีความมั่นคงเพียงพอ ส่วนการชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์ จะเริ่มดูแลตั้งแต่สถาบันการเงินถูกควบคุม จนถึงสถาบันการเงินเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและสถาบันจะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สำหรับการชำระบัญชีและบริหารจัดการสินทรัพย์ เมื่อสถาบันการเงินถูกปิดจะดำเนินเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หลังจากคณะกรรมการควบคุมเข้าไปกำกับดูแล.-สำนักข่าวไทย