นนทบุรี 26 ก.พ. – กระทรวงพาณิชย์เตรียมดึง บสย.เสริมทัพหลักประกันทางธุรกิจ หวังให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีง่ายขึ้น เร่งหารือ 3 ฝ่าย พาณิชย์ คลัง สมาคมธนาคารไทย กำหนดมาตรการให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยตรง
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งหารือ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และสมาคมธนาคารไทย เพื่อกำหนดมาตรการให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยตรงและมีการใช้หลักทรัพย์ชนิดใหม่ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เบื้องต้นเห็นควรเชิญบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยเสริมทัพหลักประกันทางธุรกิจ โดย บสย.จะทำหน้าที่ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินเอกชนไม่มีความพร้อมที่จะรับความเสี่ยงในการนำทรัพย์สินประเภทกิจการหรือทรัพย์สินทางปัญญามาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์หวังว่าหลังจาก บสย. เข้ามาช่วยเสริมทัพแล้วจะทำให้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมีความสมบูรณ์มากขึ้นและช่วยให้สถาบันการเงินสามารถผ่อนปรนการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีง่ายขึ้นกรณีที่ใช้หลักทรัพย์ชนิดใหม่ค้ำประกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือความเป็นไปได้ในรูปแบบของการค้ำประกัน
นอกจากนี้ ขอยืนยันว่าปัจจุบันกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีระบบการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจที่มีความสะดวก รวดเร็ว แบบเรียลไทม์ สามารถยื่นขอจดทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ และขณะนี้ได้พัฒนาระบบให้สามารถรับชำระเงินค่าธรรมเนียมผ่านระบบ e-payment ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการขอจดทะเบียนมากขึ้น อีกทั้งมีระบบตรวจเช็คข้อมูลสัญญาหลักประกันทางธุรกิจได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการและระบบเศรษฐกิจมากที่สุด และเป็นการอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการด้านการให้บริการข้อมูลการจดทะเบียนฯ และข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้บังคับหลักประกัน โดยคาดว่าจะสามารถให้บริการได้อย่างสมบูรณ์เดือนพฤษภาคม 2560
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีธุรกิจเอสเอ็มอียื่นคำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจรวม 118,887 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน 1,688,534 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 57.61 มูลค่า 972,776 ล้านบาท รองลงมา คือ สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน คิดเป็นร้อยละ 21.66 มูลค่า 365,741 ล้านบาท และสิทธิเรียกร้องประเภทอื่น ๆ เช่น ลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ คิดเป็นร้อยละ 17.12 มูลค่า 289,157 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย