รร.มิราเคิล 7 มี.ค.-ในเวทีแลกเปลี่ยน”การขับเคลื่อนผลักดันนโยบายโรงเรียนผู้สูงอายุสู่ชุมชน เตรียมให้เสนอให้องค์กรปกครองท้องถิ่นจัดทำโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร นักวิจัย คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงผลการศึกษาโครงการ “ถอดบทเรียนตัวอย่างที่ดีของโรงเรียนผู้สูงอายุและชมรมผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมถ่ายทอดความรู้” ว่าขณะนี้สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยอัตราประชากรสูงวัย แบ่งตามเกณฑ์อายุ ประกอบด้วยวัยต้น 60-69 ปี,วัยกลาง 70-79 ปี, วัยปลาย 80-89 ปี ในปี 2563 คาดว่าจะมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุวัยต้น ร้อยละ 11 วัยกลาง ร้อยละ 5.6 และวัยปลาย 2.6 และเมื่อมีประชากรสูงอายุมากขึ้น อาจทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าจะเป็นการเพิ่มภาระทางสังคม เพราะเป็นวัยพึ่งพา จึงเกิดแนวคิดเสริมทักษะให้ผู้สูงอายุ พึ่งพาตัวเอง มีสุขภาพกายใจ จิตปัญญาดี และปรับตัวกับสังคมได้ มีทรัพย์สินเลี้ยงตัวเองได้
ศ.ศศิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีหลายพื้นที่เริ่มจัดทำโรงเรียนผู้สูงอายุ ร่วมกับท้องถิ่น จัดหลักสูตรการสอน เน้นการปรับตัวของผู้สูงอายุในสังคม มากกว่าการจัดกิจกรรมนันทนาการเพียงอย่างเดียว ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
ด้าน พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมุลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า เตรียมนำเสนอเรื่อง การจัดตั้ง โรงเรียนผู้สุงอายุในเวทีการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ในเดือนมีนาคมนี้ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดระบบบริการ โรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่ เพื่อพัฒนากคุณภาพชีวิต .-สำนักข่าวไทย