กรมสรรพากร 6 มี.ค. – กรมสรรพากรยอมรับจดแจ้งบัญชีเดียวนำส่งรายได้เพิ่มร้อยละ 3-4 ยืนยันไม่ตรวจสอบย้อนหลัง หวังดึงเอสเอ็มอีเข้าระบบ หลังกังวลกลุ่มสีเท่าจำนวนมากยังไม่จดแจ้ง
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวระหว่างร่วมงานสัมมนา “ความร่วมมือ 4 หน่วยงานกับสิทธิ์ประโยชน์จากการจดแจ้งภาษีอากร” ว่า หลังจากเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาจดแจ้งรายชื่อเพื่อจัดทำบัญชีเดียว ปีที่ผ่านมามีเอสเอ็มอีจดแจ้ง 465,000 ราย มีสัดส่วนเพียง 1/3 เพราะเป็นห่วงเอสเอ็มอี สัดส่วน 2/3 ของเอสเอ็มอีทั้งระบบ 2.6 ล้านราย เพื่อต้องการให้ทุกฝ่ายจัดทำบัญชีอย่างโปร่งใสถูกต้อง เมื่อผู้ประกอบการจัดทำบัญชีอย่างถูกต้องในช่วงที่ผ่านมาพบว่าเอสเอ็มอีมีรายได้มากกว่า 30 ล้านบาท นำส่งภาษีรายได้มูลค่าเพิ่มร้อยละ 3-4 เช่น กลุ่มร้านทอง จากเดิมเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพียง 2.8 ล้านบาท เพิ่มเป็น 28 ล้านบาทในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ย้ำว่าอนาคตกรมสรรพากรจะลดอำนาจการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เปลี่ยนมาเป็นการใช้ระบบข้อมูลตรวจสอบ ทำให้การเจรจากับเจ้าหน้าที่ของผู้ประกอบการต้องลดน้อยลง ปรับโครงสร้างในองค์กร จากส่วนกำกับดูแลผู้เสียภาษี เปลี่ยนมาเป็นส่วนแนะนำและตรวจสอบภาษี เพื่อต้องการให้คำแนะนำการเสียภาษีอย่างถูกต้อง และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ธนาคารจะเริ่มใช้มาตรฐานบัญชีเดียวเป็นเครื่องมือพิจารณาสินเชื่อ ดังนั้น จึงต้องการส่งเสริมเอสเอ็มอีจัดทำบัญชีเดียวในการประกอบกิจการ ยืนยันว่าจะไม่มีการตรวจสอบบัญชีย้อนหลังอย่างแน่นอน สำหรับจัดทำบัญชีเดียว หากเอสเอ็มอีมีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ในปี 2559,2560 ได้รับการยกเว้นภาษี หากมีกำไรมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไปเสียภาษีร้อยละ 10
นายประสงค์ กล่าวว่า หลังจากเปิดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่จัดตั้งก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 และมีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท มาจดแจ้งตามพระราชกำหนดการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล กรมสรรพากรจึงต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสีเทา ซึ่งยังจัดทำบัญชีไม่ถูกต้องเข้าสู่ระบบบัญชีเดียวให้มากขึ้น
นายกิตติพงษ์ อุรพีพัฒนพงศ์ รองประธาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการต่าง ๆ เข้าสู่ระบบ ทำให้ภาครัฐมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นจากการเสียภาษีจำนวนมาก อัตราภาษีจึงมีแนวโน้มลดลง เพื่อลดภาระให้กับผู้ประกอบการ แนวโน้มการประกอบธุรกิจของเอสเอ็มอีหนีไม่พ้นที่ต้องค้าขายต่างแดน หรือร่วมทุน เมื่อตลาดเติบโต จึงต้องถูกผู้ร่วมทุนมาตรวจบัญชี
นายสรกิจ มั่นบุปผชาติ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่อาเซียนตลาดในประเทศเพื่อนบ้านจะกลายเป็นตลาดเดียว จึงหนีไม่พ้นสำหรับผู้มีแนวโน้มการเติบโต เพราะจะมีผู้สนใจเข้ามาร่วมทุน สั่งซื้อ จึงหลีกหนีไม่พ้นปรับระบบบัญชีให้มีมาตรฐาน ทุกฝ่ายจึงต้องปรับตัวให้พร้อม เนื่องจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะผลักดันให้ทุกคนปรับตัว จึงต้องการส่งเสริมให้ทุกคนเข้าสู่ระบบ ขณะที่สมาคมธนาคารไทย จะเริ่มใช้ระบบบัญชีเดียววิเคราะห์สินเชื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 เพราะธนาคารต้องการเห็นภาพผู้ประกอบการ เมื่อมีความชัดเจนโปร่งใสย่อมได้รับการพิจารณาปล่อยสินเชื่อมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย