กรุงเทพฯ 5 พ.ค. – สสว.ผลักดันเอสเอ็มอีไทยใช้บัญชีเดียวแลกการขอกู้แบงก์ง่ายขึ้น
นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เอสเอ็มอีขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้น้อย เพราะส่วนใหญ่อยู่นอกระบบและมีระบบการจัดการบัญชีที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดความน่าเชื่อถือ สสว.จึงส่งเสริมให้เอสเอ็มอีใช้บัญชีเดียว เพื่อช่วยให้ขอกู้เงินได้ง่ายขึ้น ที่ผ่านมาจากข้อมูลจนถึงสิ้นปี 2560 พบว่า เอสเอ็มอีบัญชีไม่มาตรฐานกว่า 3,046,793 ราย แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ นิติบุคคล 675,633 ราย หรือ 22.18% วิสาหกิจชุมชน 85,429 ราย หรือ 2.80% และบุคคล/อื่น ๆ 2,285,731 ราย หรือ 75.02% จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพียง 22.18% เท่านั้นที่เป็นนิติบุคคล มีการจัดทำบัญชีของธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย
ดังนั้น สสว.จึงเร่งส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านโครงการส่งเสริมและพัฒนา SME ด้วยระบบบัญชีเดียว ผ่านรูปแบบการอบรมและสร้างองค์ความรู้ด้านบัญชีให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดาและที่เป็นนิติบุคลแต่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องบัญชีเพียงพอ รวมถึงการพัฒนาผู้ให้บริการด้านบัญชีและที่ปรึกษาภาษี (Service Provider) ขนาดเล็ก ให้สามารถปรับปรุงพัฒนาความรู้ด้านบัญชีให้ทันสมัยทันต่อเหตุการณ์ เพื่อให้สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อไปได้
นางสาววิมลกานต์ กล่าวว่า เอสเอ็มอีทำบัญชีถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานจะทำให้กิจการได้รับความเชื่อถือจากคู่ค้า เจ้าหนี้ และผู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลดีกับผู้ประกอบการเองหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ การเพิ่มโอกาสด้านการเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ลดต้นทุนทางการเงิน ไม่ต้องกังวลในเรื่องการลงบัญชีที่ไม่ถูกต้องทำให้ถูกตรวจสอบจากภาครัฐ รวมถึงการได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากภาครัฐ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ เพื่อเร่งปรับเรื่องมาตรฐานบัญชีให้กับเอสเอ็มอี สสว.จึงจัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีด้วยระบบบัญชีเดียว และยังเสริมสร้างสมรรถนะของผู้ให้บริการด้านบัญชีและที่ปรึกษาภาษี (Service Provider) ให้มีประสิทธิภาพ มีความพร้อมและสามารถให้บริการผู้ประกอบการมากขึ้น สสว.คาดว่าโครงการฯ นี้จะมีผู้ประกอบการกว่า 3,000 รายเข้าร่วมโครงการฯ และมีผู้ให้บริการด้านบัญชีและที่ปรึกษาภาษี (Service Provider) จำนวน 100 กิจการ มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยคาดหวังว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จะสามารถนำความรู้ด้านบัญชีมาวางแผนเกิดเป็นแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถจัดทำแผนการเงินเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ไม่ต่ำกว่า 64 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย