กรุงเทพฯ 28 มี.ค.- สสว.ระบุจากนี้ไปภาครัฐจะเน้นดูแลเอสเอ็มอี นอกจากดูแลกลุ่มสตาร์ทอัพ ล่าสุดปรับนโยบายดูแลลงไปสู่กลุ่มไมโครเอสเอ็มอี ซึ่งมีจำนวนมากคิดเป็นร้อยละ 86.9 ของเอสเอ็มอี 3 ล้านราย พร้อม สสว. ซีพีออลล์ และพันธมิตร ยังมอบรางวัล เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2561 เพื่อให้เดินหน้าพัฒนาคุณภาพสินค้าให้แข่งขันได้ในยุคดิจิทัล
นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยในงาน “วันแห่งโอกาสดี@ CP ALL” ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ว่า ในช่วงการเข้ามาบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิม 2.7 ล้านราย เป็น 3 ล้านราย และที่น่ายินดี คือ เอสเอ็มอีสร้างงานเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเป็นแหล่งจ้างงานประมาณร้อยละ 83 ของการจ้างงานทั้งหมด ปี 2557 – 2560 การจ้างงานเพิ่มจาก 10 ล้านราย เป็น 12.5 ล้านราย ด้าน “จีดีพีเอสเอ็มอี” มีสัดส่วนต่อ “จีดีพีประเทศ” ก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากเดิมร้อยละ 37 ของจีดีพีประเทศ ขณะนี้จีดีพีเอสเอ็มอี เพิ่มขึ้นมามีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 42 ของจีดีพีประเทศ ทั้งนี้ รายได้ของเอสเอ็มอีปี 2556 อยู่ที่ 5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 6.5 ล้านล้านบาท ในปี 2560
ส่วนการจัดตั้งและยกเลิกกิจการของเอสเอ็มอี ก่อนหน้านี้มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน โดยมีการแจ้งจัดตั้ง 30,000 ราย และแจ้งยกเลิกกิจการประมาณ 40,000 ราย แต่ปัจุบันมีการแจ้งจัดตั้งกิจการมากถึง 73,000 ราย แต่แจ้งยกเลิกกิจการเพียง 21,000 รายเท่านั้น การยกเลิกกิจการน้อยกว่าการเริ่มต้นกิจการ สะท้อนถึงแนวโน้มที่ดีขึ้นของเอสเอ็มอีทั่วประเทศ
นางสาววิมลกานต์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปภาครัฐเปลี่ยนแปลงนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอี โดยเน้นช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือไมโครเอสเอ็มอีที่มีการจ้างงานไม่เกิน 5 ราย มีรายได้ปีละไม่เกิน 1.8 ล้านบาท หากพิจารณาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะพบว่าล่าสุดเอสเอ็มอีมีรายได้เกินปีละ 500 ล้านบาทขึ้นไปมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 1.4 ของเอสเอ็มอีทั้งหมด ส่วนเอสเอ็มอีขนาดเล็กหรือขนาด “ S” มีรายได้ไม่เกินปีละ 100 ล้านบาท มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 11 ส่วนไมโครเอสเอ็มอีที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 1.8 ล้านบาท มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 86.9 ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหมด 3 ล้านราย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเข้าไปดูแลกลุ่มนี้มากขึ้น
นางสาววิมลกานต์ กล่าวว่า ปี 2563-2564 ภาครัฐจะทำงบบูรณาการช่วยเหลือสนับสนุนเอสเอ็มอี โดยหันมาให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอีมากขึ้นและยังดูแลเน้นกลุ่มสตาร์ทอัพด้วย ลักษณะการจัดทำนโยบายช่วยเหลือจึงเปลี่ยนจากเดิมทำนโยบายเดียวดูแลทุกขนาดกิจการ มาเป็นนโยบายที่เหมาะสมกับเอสเอ็มอีแต่ละกลุ่มที่มีความต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกันไป เช่น กลุ่มไมโครเอสเอ็มอีมักทำธุรกิจเอง ไม่มีเครือข่ายก็จะเน้นช่วยสร้างเครือข่าย ส่วนผู้ประกอบการกลุ่ม S จะเน้นเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการเข้าถึงรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ ๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ สสว. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด และพันธมิตร ยังจัดพิธีมอบรางวัลเซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2561 ให้กับเอสเอ็มอีที่ชนะการประกวด 9 ประเภท เช่น เอสเอ็มอี ยั่งยืน, เอสเอ็มอี ยอดเยี่ยม และดาวรุ่ง เอสเอ็มอี เป็นต้น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้มุ่งมั่นพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ สามารถแข่งขันในช่องทางการค้าที่หลากหลายและเป็นต้นแบบให้กับเอสเอมอีรายอื่นที่จะพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้ในยุคดิจิทัล พิธีจัดขึ้นภายในงาน “วันแห่งโอกาสดี@ CP ALL” ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ
นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเติบโตจากการสนับสนุนของคนไทยมาตลอด 30 ปี ปัจจุบันมีร้านเซเว่น อีเลฟเว่น กว่า 11,000 สาขา มีผู้ใช้บริการกว่า 12 ล้านคนต่อวัน จึงตอบแทนคนไทยด้วยการมอบโอกาสทางธุรกิจให้เอสเอ็มอีและเกษตรกรหลายหมื่นคนมีช่องทางจำหน่ายสินค้าทั่วประเทศ และให้ผู้สนใจเข้าร่วมธุรกิจร้านเซเว่น อีเลฟเว่น 6,000 ราย และยังมีการจ้างงานกว่า 170,000 อัตรา นับเป็นองค์กรที่มีการจ้างงานมากที่สุดในประเทศไทย ที่ผ่านมายังมอบทุนการศึกษาไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย