กรมสรรพากร 12 ม.ค. – กรมสรรพากรย้ำบริษัทเอกชน-สื่อมวลชนยื่นแจ้งรับบริจาคช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้ พร้อมเสนอ ครม. สัปดาห์หน้าพิจารณามาตรการภาษีช่วยเหลือประชาชน เอกชนเพิ่มหลังน้ำลดลง
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า หลังจาก ครม.เห็นชอบให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยผ่านส่วนราชการ องค์การ หรือสถานสาธารณกุศล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นที่เป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินบริจาคที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากร เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินไปให้ผู้ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2560 – 31 มีนาคม 2560
สำหรับบริษัทเอกชนโดยเฉพาะสื่อมวลชนได้ร่วมรับบริจาคครั้งนี้ จึงขอความร่วมมือมาติดต่อแจ้งขึ้นทะเบียนการรับบริจาคภายใน 30 วัน นับตั้งแต่เปิดรับบริจาคย้อนหลังให้ถึงวันที่ 1 มกราคม เมื่อรับบริจาคแล้วทุกหน่วยงานออกใบเสร็จรับเงินหรือใบขอบคุณสำหรับการรับบริจาค เพื่อไม่ต้องนำเงินบริจาคเป็นรายรับองค์กรจะมีภาระภาษีเพิ่มอีก
โดยย้ำว่ากรณีบุคคลธรรมดาจะหักเป็นค่าลดหย่อนได้เฉพาะกรณีบริจาคเป็นเงินเท่านั้น และเมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนฯ แล้ว ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ทั้งกรณีการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินแต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะฯ แล้วต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ เพื่อใช้สำหรับหักค่าลดหย่อนของบุคคลธรรมดาใช้สำหรับปีภาษี 2560 และการหักค่าใช้จ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2560 สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อนหรือค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 1.5 เท่าของเงินบริจาค
สำหรับการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีอากรในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอุทกภัย สำหรับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ต้องยื่นเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2560 โดยให้นำไปยื่นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 จะได้รับยกเว้นค่าปรับ เงินเพิ่ม หรือค่าปรับอาญา นอกจากนี้ กรมสรรพากรเตรียมเสนอ ครม.สัปดาห์หน้าพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพิ่ม เพื่อลดภาระทางภาษีทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ หลังปริมาณน้ำลดลง เพื่อเยียวยานอกเหนือจากการช่วยเหลือด้านอื่นทั้งซ่อมถนน ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
สำหรับมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (ช้อปช่วยชาติ) ให้ประชาชนใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการในประเทศระหว่างวันที่ 14 – 31 ธันวาคม 2559 เมื่อขยายเวลาเพิ่มขึ้นจากปีก่อนและร้านค้าเตรียมตัวรองรับเพื่อเขียนใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป จึงมีบรรยากาศการซื้อขายสินค้าอย่างคึกคัก คาดว่ายอดการใช้จ่ายและเงินหมุนเวียนน่าจะเกินเป้าหมาย 20,000 ล้านบาท เมื่อนับรวมมาตรการลดหย่อนภาษีทั้งปี กรมสรรพากรออกไปแล้ว 5 มาตการ ประกอบด้วย 1. มาตรการภาษีสนับสนุนการท่องเที่ยวตลอดปี 2559 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2559 2.มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ วันที่ 9-17 เมษายน 2559 และ 3.มาตรการนำค่าบริการนำเที่ยวภายในประเทศหรือค่าที่พักโรงแรมภายในประเทศวันที่ 1-31 ธันวาคม รวมเฉพาะด้านการท่องเที่ยวลดหย่อนภาษีได้ 45,000 ล้านบาท และ 4.มาตรการส่งเสริมการซื้อสินค้าโอทอปช่วงเดือนสิงหาคม 5.มาตรการช้อปช่วยชาติ รวมทุกมาตรการประชาชนนำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษี 75,000 ล้านบาท จึงต้องการให้เก็บเอกสารใบเสร็จให้พร้อมสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี หากใครลงทะเบียนพร้อมเพย์จะได้รับคืนเงินอย่างรวดเร็วผ่านทุกธนาคาร.-สำนักข่าวไทย