เมืองทองธานี 2 มี.ค.- วิษณุ อยากเห็นหน่วยงานภาครัฐจำลองรูปแบบการทำงานของ ป.ย.ป. ไปใช้ในกระทรวง-หน่วยงาน ย้ำ ยุทธศาสตร์กระทรวง-จังหวัด ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระบุ นายกฯ กำชับ การอบรมแต่ละหลักสูตร เน้นการตั้งคำถามและหาคำตอบ ไม่ ดูงานต่างประเทศ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย บรรยายพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศ ตามหมวด 16 แห่งร่างรัฐธรรมนูญไทย” ตอนหนึ่งว่า การประชุมวันนี้ (2 มี.ค.) เป็นการปฐมนิเทศผู้ที่จะเข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ ตามดำรินายกรัฐมนตรี 1,200 คน ก่อนแยกย้ายไปเข้าอบรมตามหลักสูตร อาทิ หลักสูตรสำหรับอธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและระดับท้องถิ่น
นายวิษณุ กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องมีการจัดอบรมหลักสูตรนี้ เนื่องจากต่อไปจะมีความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ตามกระแสความต้องการของโลก เพื่อให้ผู้ทำงานทุกระดับมีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง หรือจัดระบบกระบวนความคิดใหม่ คือ ปรับวิสัยทัศน์ แบบบูรณาการ ที่จะไม่ใช่การรวมศูนย์แบบเดิม แต่จะเป็นการทำงานร่วมกันแบบประชารัฐ
นายวิษณุ กล่าวว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ไม่ว่ายุคใดสมัยใด หรือในอนาคต ภารกิจสำคัญ คือ การบริหารประเทศ และในการบริหารประเทศ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ การปกครองและพัฒนา การทำตามกฎหมายและรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึง การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ภัยพิบัติ หรือ การก่อการร้าย ซึ่งปัญหาเฉพาะหน้าเป็นสิ่งที่ควรแก้ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้อยู่ในแผนที่วางเอาไว้
นายวิษณุ ยังกล่าวถึง เรื่องการปฏิรูปประเทศ ที่ในอดีตไม่เคยมีกฎหมายเขียนบังคับให้ทำมาก่อน ว่า รัฐบาลที่ผ่านมีเพียงความต้องการจะทำ แต่รัฐบาลนี้เห็นว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำ โดยกำหนดการปฏิรูป 7 ด้าน อาทิ ปฏิรูปการเมือง , ปฏิรูประบบราชการ, ปฏิรูปกฎหมาย, ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, ปฏิรูปการศึกษา, ปฏิรูปเศรษฐกิจ และปฏิรูปอื่นๆ โดยมีระยะเวลาที่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะอยู่หรือไม่ก็ตาม
นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ต้องทำตามคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เพราะกำหนดเรื่องปฏิรูปไว้ให้ทำแล้ว ที่สอดคล้องกับยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี ที่วางแนวทางการดำเนินการตามกรอบไว้ นอกจากนี้ ยังต้องมีการสร้างความสามัคคีปรองดองควบคู่ไปด้วย โดยรัฐบาลมีกลไกมาช่วย คือ การตั้งคณะกรรมการ ป.ย.ป. แบบย่อยลงไปอีก 4 ชุดตามภารกิจ
นายวิษณุ กล่าวว่า 1. คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ทำหน้าที่บริหาร เรื่องใดทำได้ส่งให้ ป.ย.ป.ดำเนินการ แต่เรื่องใดทำไม่ได้ส่งเข้า ครม. และ คสช. ตามเรื่องนั้นๆ 2. คณะกรรมการเตรียมการด้านการปฏิรูป 3. คณะกรรมการเตรียมการด้านยุทธศาสตร์ และ 4. คณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดอง โดย 4 ชุดนี้เป็นคณะกรรมการชุดเล็ก ที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการ ป.ย.ป.ชุดใหญ่ เชื่อว่าวิธีการออกแบบการทำงานแบบนี้ จะขับเคลื่อนได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ มากกว่าการขับเคลื่อนชุดใหญ่เพียงชุดเดียว
“สำหรับระดับที่ลดหลั่นลงมา คือ กระทรวง จังหวัด สามารถนำรูปแบบในระดับชาตินี้ไปใช้ในกระทรวงและหน่วยงาน โดยใส่ภารกิจของตัวเองเข้าไป และทำเท่าที่ทำได้ โดยการจำลองรูปแบบ ป.ย.ป.และการปฏิรูปทั้ง 7 ด้านในรัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย วันนี้ จึงอยากเห็นยุทธศาตร์ของแต่ละกระทรวง ที่จะออกมาสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า แต่ละหลักสูตรที่มีการอบรม นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า ต้องไม่เน้นการบรรยายมากนัก แต่ต้องเน้นการตั้งคำถาม และร่วมกันหาคำตอบ โดยต้องใช้เวลาไม่มาก และไม่มีการไปดูงานในต่างประเทศ ทั้งนี้ หากเป็นข้าราชการพลเรือน ผู้ที่เข้าอบรมจะต้องมีการบันทึกไว้ในประวัติ กพ.7 ด้วย ส่วนทหาร ตำรวจ ก็จะมีการบันทึกไว้เช่นกัน.- สำนักข่าวไทย