กรุงเทพฯ 4 ม.ค. – ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ไตรมาส 4 ปี 2559 ส่งสัญญาณดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 49.9 และแนวโน้มต่อสถานการณ์อีก 6 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้น 2 ไตรมาสติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 52.8
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ไตรมาส 4 ปี 2559 สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศ 1,532 ตัวอย่าง พบว่า GSI ไตรมาส 4 ปี 2559 ส่งสัญญาณดีขึ้นเป็นลำดับ อยู่ที่ระดับ 49.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2559 ที่อยู่ระดับ 49.0 ประชาชนระดับฐานรากมีความคาดหวังรายได้ในอนาคต จากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติปรับค่าจ้างขั้นต่ำภายในประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อรายได้ของประชาชนฐานรากปีหน้า ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเกือบใกล้เคียงกับระดับความเชื่อมั่น
นายชาติชาย กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากต่อสถานการณ์ใน 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 51.8 ในไตรมาส 3 ปี 2559 มาอยู่ที่ ระดับ 52.8 ในไตรมาส 4 ปี 2559 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนระดับฐานรากส่วนใหญ่มีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้าในระดับที่ดี เนื่องจากความคาดหวังรายได้ในอนาคตจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นด้านต่าง ๆ เทียบกับไตรมาส 3 ปี 2559 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นด้านภาระหนี้สิน และการออมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ส่วนด้านการจับจ่ายใช้สอย การหารายได้ ภาวะเศรษฐกิจ และการหางานทำปรับตัวลดลงเล็กน้อย
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ คาดการณ์ว่าการบริโภคของประชาชนฐานรากยังฟื้นตัวไม่มากในไตรมาสสุดท้าย เนื่องจากยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย เพราะมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ปี 2560 ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลงและประสิทธิภาพของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตของประชาชนฐานราก โดยเมื่อสอบถามถึงความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนฐานราก พบว่าเกือบทั้งหมดร้อยละ 96.5 มีความรู้ความเข้าใจ และเมื่อพิจารณาถึงระดับความรู้ ความเข้าใจ พบว่าส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจระดับปานกลางร้อยละ 59.6 โดยเชื่อว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่นิยมนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน พบว่า 3 อันดับ คือ การเก็บออม การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และอยู่อย่างเหมาะสมกับฐานะ.-สำนักข่าวไทย