ธ.ออมสิน สำนักงานใหญ่ 12 ม.ค. – นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารออมสินออกสินเชื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยสำหรับปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ วงเงิน 50,000 ล้านบาท ยกเว้นดอกเบี้ยปีแรก ส่วนปีที่ 2-5 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูกิจการ 2 ล้านบาทต่อราย คิดดอกเบี้ยต่อเป็นกรณีพิเศษ สินเชื่อดังกล่าวไม่ได้ปลอดดอกเบี้ย เพราะไม่ได้เสนอขอให้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย
ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการที่มีความต้องการจำนวนมาก ธนาคารออมสินพร้อมปรับโครงการสินเชื่อซอฟท์โลน ซึ่งเสนอขอ ครม.วงเงิน 30,000 ล้านบาท แต่สถาบันการเงินต่าง ๆ เบิกสินเชื่อไปเพียง 8,000-9,000 ล้านบาท เหลือ 22,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับช่วยเหลือน้ำท่วมได้ ออมสินจึงพร้อมปรับมาเป็นซอฟท์โลนสำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้
สำหรับแผนดำเนินงานปี 2560 ธนาคารตั้งเป้าหมายกำไรสุทธิ 21,000 ล้านบาท เป้าหมายสินเชื่อประมาณ 58,000 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 3 ในเดือนมกราคมนี้มียอดเงินกู้จากกระทรวงการคลังรอเบิกจ่าย 80,000 ล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างอาจถึงวงเงิน 2 ล้านล้านบาท จากปัจจุบัน 1.9 ล้านล้านบาท ด้านเงินฝากตั้งเป้าหมายระดมเงินฝากเพิ่มขึ้น 64,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3 กำหนดเป้าหมายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 2.04 จากสัดส่วนร้อยละ 2.2 ในปี 2559
นายชาติชาย กล่าวว่า ธนาคารออมสินยังเน้นส่งเสริมการออม รักษาวินัยทางการเงิน การยึดปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงมาปรับใช้ในทุกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น การพิจารณาให้ผู้แบบไม่เกินตัวของผู้ประกอบการ การส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ โครงการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ยอมรับว่าเอ็นพีแอลเพิ่มจากปัญหาภัยธรรมชาติ ราคาสินค้ากระทบต่อเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย จึงเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเปิดศูนย์ติดตามการแก้ไขหนี้ เพื่อดูแลและเฝ้าระวังหนี้เสียทั่วประเทศ เพื่อนำผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนพิจารณาศักยภาพทำอาชีพแล้วปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม จากนั้นหากผู้ใดยังมีความเสี่ยงจะนำมาอบรมเพิ่มและพิจาณาปล่อยสินเชื่อหมุนเวียน เตรียมวงเงินรองรับ 5,000 ล้านบาท หากปล่อยสินเชื่อ 50,000 บาทต่อราย ช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบประมาณ 100,000 ราย
สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารปี 59 กำไรสุทธิ 25,000 ล้านบาท มาจากการบริหารพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดและสภาพคล่อง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและเงินรางวัลต่ำกว่าปีก่อน และรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แม้ว่าปี 2559 มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจร้อยละ 0.18 ประมาณ 3,446 ล้านบาท นำเงินส่งกระทรวงการคลังกว่า 13,000 ล้านบาท สำหรับสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิต่อรายได้รวมสุทธิมีสัดส่วนร้อยละ 7 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2558 มีจำนวน 109,111 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.55
ภารกิจด้านการส่งเสริมการออมในฐานะสถาบันเพื่อการออมมียอดเงินฝากรวม 2.16 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 จำนวน 77,601 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.73 ในปี 2559 ธนาคารออกผลิตภัณฑ์เงินฝากหลากหลายที่ตอบสนองความต้องการ สำหรับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 อยู่ที่ 1,901,851 ล้านบาท มียอดลดลงจากสิ้นปี 2558 ที่อยู่ที่ 17,808 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.93 โดยเฉพาะจากการรับชำระคืนก่อนกำหนดของสินเชื่อภาครัฐและรัฐวิสาหกิจกว่า 100,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย