รัฐสภา 16 ธ.ค.- สนช.มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ วาระ 3 แล้ว โดยปรับแก้ตามคำท้วงติงเรื่องสัดส่วนคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และตัดคำว่า “บริการสาธารณะ” ออก ขณะที่ประธาน กมธ.ขอบคุณทุกความเห็น ยืนยันพร้อมรับฟังทุกฝ่าย มั่นใจพิจารณารอบคอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (17 ธ.ค.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ วาระที่ 2 และ 3 โดย พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีทั้งหมด 19 มาตรา แก้ไข 15 มาตรา เพิ่มใหม่ 3 มาตรา ซึ่งตลอดการพิจารณาของกรรมาธิการฯ ได้รับฟังความเห็นจากประชาชน และได้มีหนังสือไปยังคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นด้วยกับการปรับปรุงเพิ่มเติมของคณะกรรมาธิการฯ
จากนั้น นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. ได้อภิปรายสอบถามเหตุผลของกรรมาธิการฯ เรื่องการแก้ไขมาตรา 2 จากเดิมที่กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับภายใน 180 วัน ปรับเป็น 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากเห็นว่า เป็นกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อน สุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง ซึ่ง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ชี้แจงว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ยังต้องใช้เวลาในการออกประกาศกระทรวงอีก 60 วัน หลังจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศใช้ ซึ่งเมื่อรวมเวลาที่พระราชบัญญัติจะประกาศใช้ พระราชบัญญัติฉบับนี้ก็จะมีความสมบูรณ์ภายใน 180 วัน ตามเจตนารมณ์เดิมของกฎหมาย
จากนั้น สมาชิก สนช.ได้อภิปรายข้อสังเกตในมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11 ซึ่งกำหนดว่า ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับปฏิเสธได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาทนั้น ไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่า ข้อมูลใดที่จะเข้าข่ายทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ และอาจละเมิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนผู้สุจริตได้ ดังนั้น ควรมีการออกประกาศอย่างชัดเจนว่า ข้อมูลประเภทใดคือข้อมูลที่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ ประธานคณะกรรมาธิการฯ จึงชี้แจงว่า รัฐมนตรีที่รับผิดชอบจะออกประกาศชี้แจงว่า อะไรที่ไม่ใช่เรื่องเดือดร้อนรำคาญ
ขณะที่สมาชิก สนช.หลายคนยังได้ตั้งข้อสังเกตในมาตรา 14 แก้ไขมาตรา 20 เรื่องการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่ หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบ กรณีเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนว่า สังคมให้ความสนใจและกังวลว่าเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจเกินขอบเขต พล.ต.อ.ชัชวาลย์ จึงชี้แจงยืนยันว่า ศาลจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจว่า กรณีใดเข้าข่ายความผิดหรือไม่ อย่างไร โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ขึ้นมาพิจารณาให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาล หากพบว่ากรณีใดมีความผิดก็สั่งระงับการเผยแพร่หรือลบข้อมูล แต่จะยังไม่ถึงขั้นตอนการเอาผิดกับผู้ที่นำข้อมูลลงไปยังระบบคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ นายสมชาย แสวงการ และนายวัลลภ สมาชิก สนช. ได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ว่าควรปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะมีตัวแทนจากด้านสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดความคุ้มครองสิทธิของผู้ที่นำข้อมูลลงในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งประเด็นนี้มีการถกเถียงกัน จนต้องพักการประชุม เพื่อให้คณะกรรมาธิการฯ และสมาชิกได้หารือถึงจำนวนคณะกรรมการที่เหมาะสม
หลังพักการประชุมเพื่อหารือ คณะกรรมาธิการฯ ได้ปรับแก้ไขเพิ่มจำนวนคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จาก 5 คน เป็น 9 คน ส่วนคุณสมบัติของภาคเอกชน 3 คน ที่เข้ามาร่วมเป็นกรรมการ จะมาจากภาคสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ ยังปรับแก้ไขมาตรา 5 วรรค 1 ตัดคำว่า “บริการสาธารณะ” ออกตามข้อสังเกตของสมาชิก เพราะเห็นว่าถ้อยคำอื่นมีความหมายครอบคลุมอยู่แล้ว
จากนั้น ที่ประชุม สนช.ได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในวาระที่ 2 เป็นรายมาตรา ก่อนมีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 168 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ภายหลังเสร็จสิ้นการพิจารณา พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ยังได้แถลงขอบคุณทุกความเห็น ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน และหากมีรายชื่อผู้ที่คัดค้านเพิ่มเติมมากกว่า 300,000 รายชื่อ ที่ได้ยื่นมาเมื่อวานนี้ (16 ธ.ค.) ก็สามารถทำได้ พร้อมยืนยันว่าจะรับฟังทุกฝ่าย และย้ำว่า ที่ผ่านมาได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นมาตลอด และให้ความมั่นใจว่า ไม่ได้มีเรื่องเชื่อมโยงเกี่ยวกับซิงเกิลเกตเวย์ อย่างที่หลายฝ่ายกังวลและหยิบยกมาเป็นประเด็นให้เกิดความสับสน พร้อมยกตัวอย่างเนื้อหาที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น ความรุนแรงในครอบครัว สอนวิธีฆ่าตัวตาย สอนวิธีวางระเบิดและผลิตอาวุธ เป็นต้น
“ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้เรียกว่าผ่านฉลุย ใช้เวลาพิจารณาก็นาน เราพิจารณาอย่างรอบคอบ ผมขอขอบคุณทุกความเห็น ที่ผ่านมาก็เปิดรับฟังมาโดยตลอด ไม่คิดว่าเป็นคนละฝั่งหรือคนละพวกกัน เรื่องให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผมก็กังวล ถ้าเปิดมากๆ จะมีคนดึงคำว่า ใช้ดุลพินิจไปทำให้ช้า ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องทำเร็วเพื่อระงับเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นตรวจสอบว่ามีความผิดหรือไม่” พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย