ทำเนียบฯ 19 ธ.ค.- นายกรัฐมนตรี สั่ง คตช.ขึ้นบัญชีดำ นักธุรกิจที่ทุจริตหรือทิ้งงาน เร่งรัดคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายกับประเทศอย่างร้ายแรง เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร
ภายหลังการประชุม คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 5/2559 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นประธานการประชุม นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ปปท. ,นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ อนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ,นายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น,นางจุรี วิจิตรวาทการ กรรมการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติและ นางสาวุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ร่วมกันแถลงผลการประชุม
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ อนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเร่งรัดคดีทุจริตที่สร้างความเสียหายกับประเทศอย่างร้ายแรง เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี ไปรวบรวมข้อมูลและรายงานความคืบหน้าคดีนี้ ในการประชุมครั้งต่อไป และสั่งการให้ขึ้นบัญชีดำนักธุรกิจ ที่ทุจริต หรือทิ้งงานในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลในการป้องกันการทุจริต
ด้าน นายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น เปิดเผยว่า ที่ประชุมสั่งการให้แต่ละหน่วยงานเร่งรัดการจัดทำคู่มือและแนวทางพัฒนาการให้บริการประชาชนตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก โดยหน่วยงานนำร่อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมที่ดิน และกรมศุลกากร ขณะที่มีหนึ่งหน่วยงานคือกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ที่เสนอตัวเป็นหน่วยงานต้นแบบในการพัฒนาระบบให้บริการประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า การจัดทำคู่บริการประชาชน มีมากกว่า 8.7 แสนคู่มือ แต่ทาง กพร. ได้ตรวจความถูกต้องได้เพียง 3.5หมื่นคู่มือเท่านั้น ที่ประชุมจึงอนุมัติให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานประกาศใช้คู่มือออกไปก่อน
ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี สั่งการให้มีหนังสือชมเชยไปยังหน่วยงานที่มีผลงานด้านความโปร่งใสดีเยี่ยม 157 หน่วยงาน ขณะที่มี 5 หน่วยงานที่ยังมีผลคะแนนประเมินต่ำ
นายประยงค์ กล่าวว่า สำหรับคะแนนด้านความเชื่อมั่นจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ที่ประชุมจึงมีมติให้นำ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกมาใช้ในทุกหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานรัฐบาลที่จะรับการประเมินจากต่างประเทศ ต้องเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ 2 ภาษา เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐได้ดำเนินการปรับปรุงไปมากแล้ว แต่นักลงทุนต่างประเทศยังไม่ทราบ และให้ทุกหน่วยงานต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อมูลผู้ที่ต้องรับผิดชอบความเสียหายในการรับจำนำข้าว ในส่วนร้อยละ 80 ของความเสียหายทั้งหมด นายประยงค์ กล่าวว่า ขณะนี้รอข้อมูลในระดับจังหวัดที่จะส่งมาตรวจสอบ ซึ่งจะส่งมาเร็ว ๆ นี้ ในส่วนของคดีที่ ปปท. ดำเนินการอยู่ 986 คดี ทาง ปปท.แต่งตั้งอนุกกรรมการตรวจสอบแล้ว 911 คดี และจะเชิญอนุกรรมการชุดต่าง ๆมาหารือภายในสัปดาห์นี้ เพื่อสอบถามความคืบหน้าการทำงาน โดยยังคงกรอบการทำงานอยู่ที่ 6 เดือน ตามเดิม แต่ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และความเชื่อมโยงกับคดีอื่นๆ ก็จะส่งผลต่อกรอบเวลาไต่สวนได้
นายประยงค์ กล่าวถึงคำสั่งมาตรา 44 ที่โยกย้ายข้าราชการ มีจำนวน 353 คน ว่า ต้นสังกัดลงโทษแล้ว 81 ราย ป.ป.ช.ชี้มูล 17 ราย ต้นสังกัดตรวจสอบทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ 40 ราย .-สำนักข่าวไทย