กรุงเทพฯ 23 พ.ย.-นักวิชาการชี้ขนมพ่นควันซึ่งสังคมออนไลน์แชร์อันตรายถึงขั้นกระเพาะทะลุ สามารถกินได้ เพราะก๊าซที่นำมาใช้ให้เกิดควันคือไนโตรเจนเหลวไม่ใช่สารอันตราย แต่ต้องมีคุณภาพ ซึ่งอาจราคาแพงแต่บริสุทธิ์ ที่สำคัญต้องรอให้ควันระเหยหมดก่อนแล้วจึงกิน และไม่ควรสูดดมในปริมาณมากเพราะจะส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน หมดสติและเป็นอันตรายต่อสมองได้
จากกรณีมีการแชร์ทางสื่อออนไลน์เรื่องร้านค้านำไนโตรเจนเหลวมาใช้ ในการทำขนมเพิ่มอรรถรสในการกิน ด้วยการพ่นควันพวยพุ่งออกอย่างสนุก สนานแต่มีกระแสว่าเคยมีคนต่างชาติทานอาหารที่มีไนโตรเจนเหลวเข้าไปแล้วกระเพาะทะลุนั้น
นายวรวรงค์ รักเรืองเดช อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า จริงๆแล้วไนโตรเจนเป็นก๊าซที่ไม่มีอันตรายเพราะในอากาศที่หายใจกันอยู่ มีปริมาณก๊าซไนโตรเจนสูงมากที่สุดถึงร้อยละ 79โดยไนโตรเจน เหลวคือก๊าซไนโตรเจนที่ถูกทำให้อยู่ในรูปแบบละอองน้ำที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่พอสมควรทำให้แสงผ่านไม่ได้ เลยเห็นเป็นหมอกควันที่สัมผัสแล้วจะรู้สึกเย็นๆ เพราะมีความเย็นสูงมาก มีจุดเดือดที่จะเปลี่ยนจากของเหลวกลาย เป็นไอที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส
“จริงๆแล้วการนำไนโตรเจนเหลวมาใช้กับอาหารไม่มีอันตรายเลยเพราะจะระเหยไปหมด ปัจจุบันนิยมนำมาใช้ในการถนอมอาหาร แต่การใช้กับอาหารนั้นต้องดูที่ความบริสุทธิ์ของไนโตรเจนเหลว ที่ร้านค้านั้นเลือกซื้อมาใช้ เพราะมีหลายคุณภาพหลายราคา ไนโตรเจนเหลวที่บริสุทธิ์จริงๆ ร้อยละ 99.99 ราคาจะ สูงและไม่มีสิ่งเจือปน แต่ถ้าเป็นไนโตรเจนเหลวร้อยละ 98 อาจมีสิ่งเจือปนอย่างอื่นที่ไม่รู้ว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่รวมอยู่ได้ ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคอาหารจึงจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรก็ตามที่ใช้ สัมผัส และกินเข้าไป นั้นคืออะไรมีประโยชน์หรือมีโทษอย่างไรเพื่อจะได้ระมัด ระวัง ปฏิบัติให้เหมาะสม ซึ่งการทานอาหารที่มีส่วนผสมไนโตรเจนเหลว สิ่งสำคัญคือต้องรอให้ควันของไนโตรเจนเหลวระเหยหมดไปเสียก่อนแล้วจึงทาน” นายวรวงค์ กล่าว
นายวรวรงค์ ยังกล่าวถึงผู้จำหน่ายและผู้บริโภคขนมในลักษณะดังกล่าว ใน 2 ประเด็น คือการสัมผัสโดยตรงกับไนโตรเจนเหลวในขณะยังเป็นของเหลวและการสูดดมก๊าซไนโตรเจน ว่า ถ้าไนโตรเจนมาสัมผัสกับร่างกาย ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อภายในอวัยวะต่างๆ ในสถานะที่ยังเป็นของเหลวอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือจะทำให้ผิวหนังถูกเผาไหม้ คล้ายๆ กับการนำมือไปวางบนกระทะร้อน ๆ ลองนึกภาพตามเหมือนกับนำหยดน้ำ เพียง 1 หยดใส่ลงไปในกระทะร้อนๆ น้ำก็จะระเหยหายไปในทันที แต่ถ้านำน้ำ 1แก้ว ซึ่งมีปริมาณมากขึ้น ใส่เข้าไปในกระทะร้อนๆ น้ำจะระเหย ไม่สามารถระเหยหมดในทันที ฉะนั้น ถ้ามีน้ำที่ค้างอยู่บนกระทะที่ร้อนจัดก็จะกลายเป็นอุณหภูมิที่เกิดการเผาไหม้ เช่นเดียวกับไนโตรเจนเหลวถ้าสัมผัสผิวหนัง หรือรับประทานเข้าไปในปริมาณมากๆ ในสถานะที่ยังเป็นของเหลวอยู่ไนโตรเจนเหลวก็ไม่สามารถระเหยหายไปได้ในทันที ทำให้เกิดการเผาไหม้บริเวณผิวหนังได้เรียกว่า Nitrogen Burn หรือการเผาไหม้จากไนโตรเจนเหลว
ส่วนการสูดดมก๊าซไนโตรเจน ก็เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก ควันที่ระเหยออกมาของไนโตรเจนเหลว ก็ไม่ควรสูดดมในปริมาณมาก เพราะในอากาศมีก๊าซไนโตรเจนสูงมากอยู่แล้ว ถ้าหากสูดดมเข้าไปเพิ่มอีกอาจทำให้ร่างกายมีปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอ เพราะร่างกายของมนุษย์สร้างขึ้นมาให้รับไนโตรเจนในอากาศได้มากถึง ร้อยละ80แล้ว และรับออกซิเจนเพียงร้อยละ 20 หากยิ่งสูดดมไนโตรเจนเข้าไปมากขึ้นจะส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน หมดสติและเป็นอันตรายต่อสมองได้ .-สำนักข่าวไทย