กทม.29 ส.ค.-“ระฆังฝรั่ง” วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงชั้นเอก และวัดประจำรัชกาลที่ 4 กลับมาดังก้องกังวานส่งสัญญาณกิจสงฆ์อีกครั้ง หลังจากที่คณะอาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.ได้ประดิษฐ์ชุดควบคุมการตีระฆังอัตโนมัติ เพื่อควบคุมการตีและกำหนดจังหวะการตีระฆังของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
ดร.ศุภฤกษ์ บุญเทียร และ ดร.ก้องเกียรติ ปุภรัตนพงษ์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เล่าถึงที่มาก่อนที่ทางมหาวิทยาลัยจะได้ประดิษฐ์เครื่องควบคุมการตีระฆังอัตโนมัติ ว่า ประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับแจ้งจากทางวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามว่า ทางวัดมีความประสงค์ที่จะจัดสร้างระฆังใบใหม่เพื่อทดแทนใบเดิมที่เกิดการแตกร้าว โดยประสานขอความอนุเคราะห์ให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลของระฆังใบเก่า เพื่อนำไปใช้ประกอบในการจัดสร้างระฆังใบใหม่ให้เหมือนต้นแบบมากที่สุด ซึ่งในครั้งนั้นทางทีมงาน มจธ. นำทีมโดย รศ.ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร ได้ประสานงานนำเครื่องวิเคราะห์ส่วนผสมทางเคมีของโลหะเข้าทำการทดสอบส่วนผสมทางเคมีจากระฆังใบเดิมซึ่งเป็นระฆังพระราชทาน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากหนังสือราชประดิษฐพิพิธทรรศนา ระบุว่า ระฆังที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาสั่งให้หล่อระฆังจากโรงหล่อ Whitechapel Bell Foundry กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นโรงหล่อที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1570 และยังคงดำรงอยู่จวบจนปัจจุบัน ผ่านบริษัท Colman Palmer & Company เพราะในขณะนั้น สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษถือเป็นประเทศที่มีสัมพันธไมตรีต่อสยามมากที่สุดประเทศหนึ่ง
สำหรับระฆังดังกล่าวเป็นระฆังฝรั่ง 3 ใบ แขวนอยู่บนหอระฆังเรียงจาก ใบกลาง ใบใหญ่และใบเล็ก ซึ่งระฆังฝรั่งใบใหญ่มีความพิเศษกว่าระฆังใบอื่น คือ ตอนกลางของระฆังมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ (พระนามย่อ) ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอักษรภาษาอังกฤษ ตัวพิมพ์ใหญ่ (capital letter) ว่า SPBPMM โดยทั่วไปแล้วมีอักษรเพียง 5 ตัว คือ S.P.P.M.M. ย่อจากพระปรมาภิไธยภาษาอังกฤษ คือ Somdetch Phra Paramendr Maha Mongkut ซึ่งระฆังใบนี้มีอักษร B เพิ่มมา 1 ตัว ใต้พระปรมาภิไธยย่อบนระฆังระบุตัวเลข ค.ศ.1861 ล้อมรอบด้วยดาวหกแฉกหลายดวง ตรงกับ พ.ศ. 2404 หรือ 3 ปีก่อนการสถาปนาวัด บริเวณปากระฆังมีข้อความว่า FOUNDERS LONDON เป็นข้อความที่ระบุถึงการผลิตที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่า ได้ทรงเตรียมการเกี่ยวกับหอระฆังของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเป็นอย่างดีมาก่อนที่จะตั้งพระอารามแห่งนี้ และต้องการให้เป็นของดีสำหรับวัด
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระฆังใบใหญ่ได้แตกร้าวไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ จึงทรงพระราชทานระฆังฝรั่งเรือรบสามใบเถาเปลี่ยนถวายเพื่อใช้ตีบอกเวลาประกอบกิจของสงฆ์ตามระเบียบของพระอารามต่อไป เป็นการสืบสานพระราชปณิธานในการอุปถัมภ์พระอารามต่อจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นเครื่องแสดงถึงพระราชศรัทธาในการทำนุบำรุงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ตราบนาน
ภายหลังจากการใช้งานมายาวนาน ระฆังฝรั่งเรือรบสามใบเถา ได้แตกร้าวจนไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ จำแต่ตีเฉพาะในวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น และเปลี่ยนมาใช้การสั่นกระดิ่งเป็นการบอกเวลาประกอบกิจสงฆ์แทนในวันธรรมดา
นอกจากนี้ หอระฆังวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นหอระฆังยอดมงกุฎ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาสด้านทิศตะวันออก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันตกกับสถาปัตยกรรมแบบไทย ที่มีความพิเศษจากหอระฆังแบบไทยทั่วไป คือ ไม่มีบันไดทางขึ้นไปตีระฆัง ใช้การดึงเชือกตีระฆังด้านในโดยดึงสายจากด้านล่างและลั่นระฆังจากด้านในแทนที่จะตีจากด้านนอก
ดร.ศุภฤกษ์ กล่าวว่า ทีม มจธ. ได้เข้าไปวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของระฆัง โดยใช้เครื่องวิเคราะห์ส่วนผสมทางเคมีของโลหะแบบเคลื่อนที่พบว่าระฆังมีส่วนผสมของทองแดงและดีบุก โดยมีดีบุกประมาณ 18-20% ซึ่งฝรั่งเรียกว่า bell metal ส่วนผสมดังกล่าวจะทำให้ได้ระฆังที่มีเสียงที่ไพเราะกังวานมากกว่าโลหะอื่น ถ้าเป็นระฆังที่ผลิตจากทองเหลืองธรรมดาทั่วไป เวลาเคาะเสียงจะไม่หวาน ไม่กังวาน ไม่ดังไกลเหมือนส่วนผสมของโลหะชนิดนี้
หลังจากทางวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสมทางเคมีของระฆังแล้ว จึงก็ได้ประสานไปที่กรมสรรพาวุธทหารบก เกี่ยวกับโรงหล่อระฆังที่อังกฤษ ซึ่งทางกรมสรรพาวุธมีข้อมูลติดต่อกับโรงหล่อโลหะเหล่านี้ จึงทำให้ทราบว่า ยังมีโรงหล่อระฆังเก่าแก่ที่ยังเปิดอยู่ 2 โรงงาน น่าจะอยู่ในช่วงเดียวกับระฆังของวัดที่สั่งหล่อขึ้น จนนำไปสู่การหล่อระฆังของวัดในปัจจุบัน
“ซึ่งก็เป็นที่น่ามหัศจรรย์ เพราะผ่านมาถึง 156 ปี ทางโรงงานเดิมยังคงผลิตระฆังอยู่ และโรงงานยังมีข้อมูลเดิมอยู่” ดร.ศุภฤกษ์ กล่าว
พระครูอุทิจยานุสาสน์ หัวหน้าสำนักงานโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พร้อมคณะสงฆ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จำนวน 3 รูป เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร ผู้แทนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และผู้แทนบริษัท ศิวกรการช่าง จำกัด ได้เดินทางไปที่ประเทศอังกฤษภายหลังจากทราบข้อมูลของโรงงานที่ผลิตระฆัง และติดต่อเป็นเบื้องต้นแล้ว
“เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2557 อาตมาได้เดินทางไปอังกฤษ เพื่อติดต่อโรงงาน Whitechapel Bell Foundry เอารูปไปให้ดู ตอนแรกทางโรงงานบอกว่าไม่ได้ผลิต แต่เมื่อช่างทำระฆังเห็นแบบก็ยืนยันว่าโรงงานเคยผลิตระฆังแบบนี้ และเขาก็พร้อมที่ผลิตระฆังให้เรา” พระครูอุทิจยานุสาสน์ กล่าว
สำหรับชุดระฆังที่สั่งทำ ประกอบด้วย ระฆังใบเล็ก ใบกลาง และใบใหญ่ พร้อมชุดคอนโทรลอิเล็กทรอนิกส์ และมีค้อนไฟฟ้าที่เป็นตัวตีระฆังมาด้วย
“ทางโรงงานแจ้งว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีกลไกอัตโนมัติที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าเป็นตัวตีแทนกำลังคน ทำให้น้ำหนักการตีเป็นระดับเดียวกัน ซึ่งแพร่หลายในยุโรป อาตมาก็บอกว่า ดี น่าจะทำให้ระฆังเรามีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น เพราะที่ผ่านมาใช้กำลังคนตี ซึ่งอาจจะทำให้ใช้แรงในตีไม่สม่ำเสมอ แรงบ้าง เบาบ้าง แล้วแต่กำลังของคนที่ตี ส่งผลให้ระฆังแตกร้าวง่ายและมีอายุการใช้งานที่สั้นลง” พระครูอุทิจยานุสาสน์ กล่าว
เมื่อปี พ.ศ.2560 วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ได้รับระฆังจากโรงงานผู้ผลิตที่ประเทศอังกฤษทางวัดได้ติดต่อมาที่มหาวิทยาลัยอีกครั้ง เพื่อให้ช่วยติดตั้งชุดคอนโทรลตีระฆังดังกล่าว เนื่องจากทางวัดไม่มีองค์ความรู้
ดร.ศุภฤกษ์ กล่าวว่า ตนได้ประสานติดต่ออาจารย์ชนากานต์ แคล้วอ้อม จากสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ช่วยดูว่าจะประกอบอย่างไร เนื่องจากชุดติดตั้งที่โรงงานให้มานั้น มีการบรรจุกล่องแยกชิ้นส่วนพร้อมแนบวงจรไฟฟ้ามาให้ซึ่งจะต้องทำการต่อวงจรและเดินสายไฟเองทั้งหมด
หลังจากติดตั้งเสร็จก็ทดสอบตีระฆังด้วยระบบอัตโนมัติ แต่ปรากฏว่าพบปัญหาเรื่องจังหวะการตีระฆัง ที่ไม่ได้เป็นทำนองโบราณแบบไทย แต่จังหวะการตีมีลักษณะแบบระฆังฝรั่ง ที่ตีไปเรื่อยๆ เสียงดัง เก๊ง เก๊ง เก๊ง ขณะที่ระฆังแบบไทยเราเสียงจะดัง เป้ง เป้ง เป้งๆๆๆ รัวๆ ซึ่งตอนนั้นได้แจ้งทางวัดไปว่า ระบบจังหวะการตีที่ต่างประเทศออกแบบมานั้นไม่รองรับจังหวะการตีแบบไทย ซึ่งหากต้องการให้ใช้งานได้จังหวะแบบไทยจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีกดเองแบบ Manual โดยต้องกดเว้น กดรัว ตามจังหวะการตีที่ต้องการ
“ตอนนั้นก็นึกในใจเกิดปัญหาแล้วจะทำอย่างไร เพราะระบบคอนโทรลเป็นการให้จังหวะตีแบบฝรั่ง พอเอามาติดตั้งจังหวะการตีมันไม่เหมือนแบบไทย เราเลยไปทำตรงนั้น ให้จังหวะเป็นของไทย “
ดร.ศุภฤกษ์ กล่าวว่า ทางทีมงาน ก็พยายามติดต่อไปทางโรงงานผู้ผลิต เพื่อให้แก้ไขชุดคอนโทรลหรือทำให้ใหม่ แต่ปรากฏว่าโรงหล่อได้ขายทอดกิจการไปแล้ว ทำให้ทางมหาวิทยาลัยต้องหาทางแก้ไข จึงได้ประดิษฐ์ชุดควบคุมระบบตีระฆังขึ้นมาใหม่ โดยร่วมกับ คุณสมจิตร์ อัปมะโท นักศึกษาเก่าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และคุณประทีป ชาญณรงค์ นักศึกษาเก่าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการศึกษาการต่อแผงวงจรชุดคอนโทรล ด้วยโจทย์ที่ทางวัดให้มา คือ การฟื้นธรรมเนียมการตีระฆังฝรั่งสามใบเถาจะเป็นการตีระฆัง สี่ช่วงเวลา คือ เช้า สาย เย็น ค่ำ ในวันธรรมดา และ เพิ่มเป็นบ่าย ในวันพระปกติ วันพระใหญ่และวันสำคัญทางพุทธศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา เป็นต้น” ดร.ศุภฤกษ์ กล่าว และบอกว่า
“ผมไปหาวิดีโอจากยูทูปเพื่อฟังเสียงการตีระฆังของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เนื่องจากทางวัดเองไม่ได้บันทึกไว้ หลังจากนั้นก็ส่งไปให้ทางวัดพิจารณา ว่าเสียงตีระฆังจังหวะแบบนี้หรือเปล่า ท่านก็บอกว่าประมาณนี้ แต่มันต้องรัวให้ช้ากว่านี้อีกนิด ช่วงนี้ก็จะต้องเร็วอีกหน่อย ซึ่งก็ไม่มีใครจำจังหวะได้พอดีๆ ทางวัดจึงเสนอแนวคิดเป็นเวลาออกมาเป็นตัวเลขให้เป็นเบื้องต้นเพื่อใช้เป็นหลักในการออกแบบ เช่น เคาะครั้งแรกห่างกันกี่วินาที แล้วเคาะซ้ำกี่ครั้ง แล้วในแต่ละครั้งให้เวลาลดลงเรื่อย ๆ สามวินาที สองวินาที หนึ่งวินาที เขียนเป็นจังหวะให้เรา ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น” ดร.ศุภฤกษ์ กล่าว
ด้าน ดร.ก้องเกียรติ กล่าวเสริมว่า “ชุดควบคุมการตีระฆังที่พัฒนาขึ้นใหม่ใช้เวลาประมาณสามเดือนในการทำระบบคอนโทรลระฆังอัตโนมัติ โดยออกแบบการทำงานของระบบให้ง่าย ไม่ยุ่งยาก มีเพียง 4 ปุ่ม ปุ่มที่ 1 สำหรับวันธรรมดา ปุ่มที่ 2 วันพระเล็ก ปุ่มที่ 3 วันพระใหญ่ และปุ่มที่ 4 สำหรับวันพิเศษ เมื่อกดปุ่มเครื่องตีระฆังก็จะทำงานโดยอัตโนมัติ ซึ่งใน 1 วันจะกดเพียงครั้งเดียว ระบบก็จะทำงานตามช่วงเวลาที่ตั้งไว้”
สำหรับหลักการทำงานของระบบควบคุม เมื่อกดปุ่มที่ต้องการแล้วพอถึงเวลาระบบจะสั่งจ่ายกระแสไฟเข้าไปที่จานแม่เหล็กไฟฟ้า ตัวค้อนจะถูกดึงเข้าหาจานแม่เหล็กไฟฟ้าพร้อมกับเคาะที่ตัวระฆัง จากนั้นสปริงจะทำหน้าที่ดึงค้อนกลับห่างออกจากจานแม่เหล็กไฟฟ้า พอจ่ายไฟอีกทีค้อนก็จะถูกดูดมาเคาะที่ระฆังอีกครั้ง ที่สำคัญจังหวะการเคาะที่ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัตินี้ จะช่วยทำให้ตัวระฆังมีอายุการใช้งานได้นานขึ้น ด้วยจังหวะการตีที่สม่ำเสมอกว่าการที่ใช้แรงคนตี เนื่องจากการตีด้วยคนนั้นบางครั้งความหนัก ความเบา ความแรงในแต่ละวันไม่เท่ากัน และประกอบกับตัวเคาะเดิม คือ กระดิ่ง ซึ่งเป็นเหล็ก ถ้าอยากให้เสียงดัง ก็ต้องออกแรงดึงเชือกให้แรง
“อย่างไรก็ตาม แม้เราไม่สามารถเซ็ตระบบตลอดทั้งปีได้ เนื่องจากปฏิทินวันพระมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี เพราะฉะนั้นหากวันใดตรงกับวันพระทางวัดเพียงแค่กดปุ่มสำหรับวันพระไว้ก่อนเวลาตีระฆังปกติในตอนเช้าและกดปุ่มวันธรรมดาในเช้าวันถัดไป ซึ่งผลทดสอบระบบในช่วงที่ผ่านมาประมาณเดือนกว่า ทั้งในวันพระใหญ่ พระเล็ก เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังไม่พบปัญหาแต่อย่างใด นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังได้ออกแบบชุดควบคุมแบบแยกระบบระหว่างระฆังแต่ละใบ ทั้งระบบควบคุมเวลาและระบบจ่ายไฟ เพื่อทำให้ง่ายต่อการดูแล ถ้ามีชิ้นส่วนไหนเสียหาย ก็สามารถถอดเปลี่ยนได้ไม่ยุ่งยาก โดยเฉพาะระบบควบคุมเวลานั้นไม่ต้องกังกลเรื่องไฟฟ้าดับเพราะ แม้ปราศจากไฟฟ้าแบตเตอรี่ของระบบควบคุมเวลายังสามารถทำงานต่อเนื่องได้นาน 6 เดือน โดยไม่ต้องมาตั้งนาฬิกาใหม่ เป็นผลให้หลังเกิดไฟดับก็จะไม่กระทบกับช่วงเวลาการตีระฆัง ระฆังก็จะยังทำงานได้ต่อเนื่องตามเวลาที่ตั้งไว้” ดร.ศุภฤกษ์ กล่าว .-สำนักข่าวไทย