กรุงเทพฯ 24 ธ.ค. สหภาพฯกสท โทรคมนาคม ร้องนายกฯ ขอเลื่อนจดทะเบียนเอ็นที
นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (สร.กสท) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2563 สร.กสท ได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการขอเลื่อนการควบรวมกิจการของ กสท โทรคมนาคม และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ(จำกัด ) มหาชน หรือ เอ็นที ออกไปก่อน จากเดิมที่นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีแผนจดทะเบียนบริษัทในวันที่ 7 ม.ค. 2564 เป็น เดือนมี.ค. 2564 แทนตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมดำเนินการ แล้วจดทะเบียนการควบรวมกิจการฯ ตามมติรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 14 ม.ค. 2563 เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มีแนวทางในการปฏิบัติงานและการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับผู้เกี่ยวข้อง เช่น พนักงาน หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ใช้บริการ เพื่อให้การควบรวมกิจการครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากทุกฝ่าย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเป็นประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ ตามที่ครม.ได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยที่ผ่านมารมว.ดีอีเอส ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดนโยบายแนวทาง และติดตามการดำเนินงานเกี่ยวกับการควบกิจการ ซึ่งมีการประชุมเพียง 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน สร.กสท เห็นด้วยและสนับสนุนการควบรวมกิจการ เพราะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดการลงทุนซ้ำซ้อนในการดำเนินธุรกิจของทั้งสององค์กร ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินและทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการแข่งขันกันเองให้เป็นหน่วยงานของรัฐในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและความมั่นคง เพื่อตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน
แต่การควบรวมกิจการเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญยิ่ง เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยได้มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ เข้ามาดำเนินงานในช่วงระยะเวลาที่ จำกัด ซึ่งยังมีอีกหลายประเด็นที่มิได้มีการวิเคราะห์แผนงานและดำเนินการบริหารความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ เช่น โครงสร้างองค์กร, ทิศทางการดำเนินธุรกิจ, การออกแบบระบบบริหารทรัพยากรบุคคลให้สอดคล้องกับโครงสร้าง, สิทธิประโยชน์ และสภาพการจ้างฯ ที่สำคัญยังไม่มีการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่พนักงาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและสาธารณชน บุคคลภายนอก ซึ่งตามมติครม. เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2563 ระบุว่าต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า สิ่งใดบ้างที่จะเปลี่ยนแปลงและสภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้นภายหลังการควบรวมเป็นอย่างไร ก็ยังไม่มีความชัดเจน
สร.กสท จึงมีความกังวลเรื่องโครงสร้าง เอ็นที ตามที่ บริษัทที่ปรึกษากำหนดมา ณ Day 1 คือ มีรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ 18 สายงาน มีผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่มากกว่า 30 คน มีผู้จัดการฝ่ายจำนวน 119 คน และผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายมากกว่า 230 คน ผู้จัดการส่วนประมาณ 2,000 คน
สร.กสท เห็นว่าการกำหนดโครงสร้างองค์กรแบบ N-3 ที่ยังไม่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงสู่กลยุทธ์องค์กร ในการจัดทำแผนธุรกิจ ทั้งในระยะกลางและระยะยาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน มิได้วางแผนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้ชัดเจนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในองค์กร รวมถึงการสนับสนุน ส่งเสริมให้พนักงานเข้าร่วมโครงการเกษียณอายุให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด และพิจารณากำหนดแผนการบริหารจัดการบุคคลากรรองรับ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการ ผลการปฏิบัติงานและระบบโครงสร้างเงินเดือน ที่ควรคำนึงถึงเป้าหมาย กลยุทธ์ใหม่และการเชื่อมโยงให้เห็นภาระงานที่ชัดเจนในแต่ละส่วนงานที่มาควบรวมกัน และมุ่งเสริมสร้างวิสัยทัศน์และพันธกิจองค์กรร่วมกันตามมติครม.
ปัญหาที่จะเกิดขึ้น คือ โครงสร้างที่มีความซ้ำซ้อน เพิ่มขั้นตอนกระบวนการทำงาน จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งและไม่เป็นหนึ่งเดียวในการทำงาน สิ้นเปลืองงบประมาณ เกินความจำเป็น จากเงินประจำตำแหน่ง ไม่มีความชัดเจนในการบริหารทรัพยากรบุคคล เช่น เส้นทางความก้าวหน้า ระบบแรงจูงใจ การประเมินผลการปฏิบัติงาน ระเบียบขั้นตอนการทำงานที่มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการที่สำคัญ คือ ขาดการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ของทั้งสององค์กรให้รวมเป็นหนึ่งเดียว ให้สอดคล้องต่อวิสัยทัศน์ และเป็นไปตามนโยบายภาครัฐให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ คือ ประหยัดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด
ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์และสภาพการจ้างสร.กสท เห็นว่า บริษัทที่ปรึกษา ต้องมีรายละเอียด และมีความจำเป็นที่พนักงานของทั้งสององค์กร ที่จะถูกโอนย้ายไปยัง เอ็นที ต้องทราบในส่วนของสิทธิประโยชน์และสภาพการจ้างฯ ตามที่รมว.ดีอีเอส มีนโยบายให้มีการเจรจาสี่ฝ่าย ที่ประกอบไปด้วย กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม และ ทีโอที ผู้แทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท และ ทีโอที ที่ได้มีการประชุมเพียงครั้งเดียว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจึงไม่สามารถชี้แจงหรือสื่อสารต่อพนักงานได้ -สำนักข่าวไทย.