สมุทรสาคร 15 ต.ค.- ผอ.รพ.สมุทรสาคร ชี้แจงกรณีข่าวระบุเด็กเสียชีวิตหลังคลอดช่วง ก.ย. 40 ราย เป็นข้อมูลคลาดเคลื่อน ย้ำไม่ว่ากรณีใดหากมีผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลจะต้องวิเคราะห์หาสาเหตุให้ชัดเจน ขณะที่ “อัจฉริยะ” พาผู้เสียหายแจ้งความเพิ่มเป็นรายที่ 4 เตรียมฟ้องแพทย์และโรงพยาบาล
วันนี้ (15 ต.ค.) นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พาผู้เสียหายเข้าแจ้งความเพิ่มอีก 1 ราย ที่ สภ.เมืองสมุทรสาคร กรณีทารกเสียชีวิตหลังคลอดที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร รวมผู้เสียหายแจ้งความแล้วทั้งหมด 4 ราย
นายอัจฉริยะ กล่าวว่า วันนี้นอกจากพาผู้เสียหายมาแจ้งอีก 1 ราย ยังได้พาผู้เสียหาย 3 รายแรก ที่ได้แจ้งความไว้ก่อนแล้วมาให้ปากคำเพิ่มเติม จากนั้นจะไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครและสำนักงานประกันสังคมจังหวัด เพื่อทวงถามเงินเยียวยา ทุกรายที่เป็นผู้เสียหายในคดีมีการฝากครรภ์กับหมอผู้ทำคลอดรายนี้ และตนเชื่อว่ายังมีเด็กที่เสียชีวิตจากการคลอดมากกว่านี้ ดังนั้น ต้องมาดำเนินคดีให้กับผู้เสียหายทั้ง 4 ราย โดยจะฟ้องละเมิดทางโรงพยาบาลสมุทรสาคร ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วย รวมทั้งฟ้องคดีอาญาและแพ่งกับหมอที่ทำคลอด
ด้าน นพ.อนุกูล ไทยถานันทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวว่า กรณีมีข่าวระบุว่าเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีเด็กเสียชีวิต 40 รายนั้น ตรงนี้น่าจะเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และอาจเข้าใจผิดกัน ซึ่งการเสียชีวิตในโรงพยาบาลทุกสาเหตุ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ โรงพยาบาลจะวิเคราะห์ว่าเกิดจากโรค เกิดจากการดูแลรักษา หรือเกิดจากสาเหตุใด เพื่อนำไปปรับปรุงการดูแลรักษา ส่วนทารกที่เสียชีวิตแต่ละเดือนไม่ได้มากขนาดนั้น บางเดือนมีประมาณ 2–4 ราย อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลไม่อยากให้มีการเสียชีวิตเกิดขึ้นแม้แต่รายเดียว
“มีบางสื่อเขียนออกมาว่ามีเด็กเสียชีวิตเดือนกันยายน 2563 จำนวน 40 รายนั้น ขอชี้แจงว่า ยอด 40 ศพ เป็นยอดสะสมของเด็กทารกที่เสียชีวิตตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนกันยายน เมื่อเด็กเสียชีวิตลงทางโรงพยาบาลจะเก็บไว้ระยะหนึ่ง รอให้พ่อแม่หรือญาติมาติดต่อขอรับไปบำเพ็ญกุศล แต่ถ้าไม่มีใครมาติดต่อก็จะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ มานำศพไปเก็บไว้ที่สุสานฯ ซึ่งในเคสบุตรของรายแรกนั้น ทางโรงพยาบาลยอมรับข้อบกพร่องว่า ไม่ได้ประสานอย่างต่อเนื่องกับพ่อแม่เด็กที่เสียชีวิต เพราะขณะนั้นแม่ของเด็กอยู่ในห้องไอซียู พ่อเด็กก็ต้องดูแลแม่ จึงทำให้ขาดการประสานติดต่อกัน จนกลายเป็นปัญหาว่าตามหาศพลูกไม่พบ”
นพ.อนุกูลฯ กล่าวอีกว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตทางกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย ก็จะติดตามคุณภาพการรักษาของโรงพยาบาลทุกแห่ง ซึ่งจะมีเกณฑ์โดยนับจากเด็กเกิดมีชีพ ไม่ควรเสียชีวิตเกิน 7-8 คน ต่อ 1,000 ชีพ ส่วนสาเหตุที่เด็กทั้ง 3 รายเสียชีวิตนั้น รายแรกจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าครรภ์เป็นพิษรุนแรง ค่อนข้างฉุกเฉินเฉียบพลัน โอกาสที่ลูกกับแม่จะมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก จากสถิติการเกิดภาวะแบบนี้อัตรา 1 ต่อ 15,000 หรือ 20,000 แต่ถ้าเกิดขึ้นมาเด็กมีโอกาสเสียชีวิตถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแม่ 75 เปอร์เซนต์ โดยรายนี้ลูกเสียชีวิตก่อนคลอดส่วนแม่เข้ารักษาตัวที่ห้องไอซียู ส่วนรายที่สองจากประวัติพบว่า ฝากครรภ์ที่คลินิกแล้วพบว่าแข็งแรงดี ทำให้แม่เข้าใจว่าสมบูรณ์ดี แต่พอคลอดมาแล้วเด็กมีปัญหาเรื่องการหายใจ และหลายเรื่อง ซึ่งพยายามช่วยรักษา แต่เด็กก็อยู่ได้ไม่นาน ส่วนรายที่สามผ่าตัดคลอด และสังเกตอาการพบว่าเด็กมีปัญหาการหายใจ น่าเกิดจากอาการสำลัก หรือเกิดจากภาวะปอดติดเชื้อ จนนำมาซึ่งการเสียชีวิต และขอยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรับเงินเยียวยาจากประกันสังคมของผู้เสียหาย เพราะโรงพยาบาลไม่มีสิทธิรับค่าเยียวยาใด ๆ ทั้งสิ้น ประกันสังคมจะมอบให้กับผู้เสียหายโดยตรงเท่านั้น ส่วนการฟ้องร้องนั้นให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ทางโรงพยาบาลมีหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริง.-สำนักข่าวไทย