กรุงเทพฯ 9 ก.ย. กสทช.เผยผลทดสอบความเร็ว-ราคาอินเทอร์เน็ตไทยผงาดที่ 1และ2ของอาเซียน ขณะราคาเน็ตบ้านต่ำสุดราคาต่อหน่วยเป็นที่ 3 ของโลก อดีตเลขา กสทช.ชี้โอกาสไทยเร่งปรับโครงสร้างรับเศรษฐกิจดีจิทัล
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) การสำรวจของ Speedtest by Ookla เว็บไซต์ที่ทำการวัดความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2549 (2006) โดยทำการวัดความเร็วอินเทอร์เน็ตไปมากกว่า 30,000 ล้านครั้งนับแต่ก่อตั้งบริษัท โดยมีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 10 ล้านคนต่อวันนั้น ล่าสุดเวปไซต์ดังกล่าว ได้เผยแพร่รายงาน ความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตประจำเดือน กรกฎาคม 2563 ซึ่งพบว่าประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตมือถือ และอินเตอร์เน็ตบ้านที่มีความเร็วเป็นอันดับ 59 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ (อันดับ 13 ของโลก) โดยมีความเร็วในการใช้งานเฉลี่ย 32.87 Mbps และยังพบด้วยว่า ความเร็วอินเตอร์เน็ตบ้านในไทยนั้น ยังเร็วเป็นอันดับสามของโลกอีกด้วย โดยมีความเร็วเฉลี่ย 171.45 Mbps
ขณะที่ The Economist Intelligence Unit หน่วยงานวิจัยของนิตยสารระดับโลก Economist ที่ร่วมกับ Facebook ได้จัดทำผลการศึกษาการใช้งาน และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประเทศต่างๆกว่า 100 ประเทศทั่วโลกในปี 2020 ภายใต้ดรรชนีชี้วัดInclusive Internet Index ที่วัดผลของอินเตอร์เน็ต ในสี่ด้านคือการเข้าถึงการใช้งานในด้านโครงสร้างพื้นฐาน(Availability) การแข่งขันและราคาการใช้งานอินเตอร์เน็ตเมื่อเทียบรายได้ประชากร (Affordability) ปริมาณและความหลากหลายของข้อมูล(Relevancy) และความสามารถและความปลอดภัยที่เอื้อในการใช้งาน Readiness ซึ่งพบว่าดรรชนี Inclusive Internet Index ของไทยได้คะแนน 74.8 เป็นอันดับที่ 39 ของโลก และเป็นอันดับ 8 ของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง
ในส่วนของอันดับในด้านการเข้าถึงการใช้งานและราคาของการใช้งานอินเตอร์เน็ตนั้นประเทศไทยมีความโดดเป็นอันดับ 2 ของชาติอาเซียนรองจากสิงคโปร์ แต่เป็นอันดับ 1 ในด้านความถูกของราคาการใช้งานอินเทอร์เน็ตเมื่อเทียบกับรายได้ของประชากร
ทั้งนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) มองว่า ความสำเร็จดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จของบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ต ทั้งในส่วนของความครอบคลุม การเข้าถึงบริการโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน และโดยเฉพาะราคาของการใช้งานอินเทอร์เน็ตเมื่อเทียบรายได้ประชากรที่ประเทศไทยต่ำเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันนั้น ถือเป็นผลงานความสำเร็จของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ที่มีการผลักดันให้ประเทศมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต ทั้งในส่วนของ Mobile Operator และ Fixed line Operator และโดยเฉพาะการที่กสทช.เดินหน้าเปิดประมูลคลื่นความถี่ 5จี ไปเมื่อต้นปี 2563 ที่มีส่วนทำให้ประเทศไทยสามารถเปิดให้บริการ 5 จีในเชิงพาณิชย์ได้ก่อนประเทศอื่นในภูมิภาคนี้
“ผลสำเร็จของการประมูล 5 จีดังกล่าว ไม่เพียงจะทำให้คนไทยเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตที่เป็นบริการพื้นฐานในราคาที่ถูกแล้ว ยังทำให้รัฐบาลสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวในการเป็นเครื่องมือสกัดกั้น และควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 อย่างได้ผลอีกด้วย จนทำให้ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศ
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า ในอดีตไทยอาจล้าหลังด้านเทคโนโลยี 3 จีและ 4 จีเพราะเราพัฒนา3 จีได้ช้ากว่าประเทศอื่นนับ 10 ปี 4 จีก็ล่าช้าไปกว่า 5-6 ปีแต่ในส่วนของคลื่น 5 จีนั้นไทยเราสามารถวางโครงสร้างพื้นฐาน58 จีและเปิดให้บริการได้เร็วกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ จึงเป็นโอกาสของประเทศที่จะเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มและปรับโครงสร้างบริการ OTT 5G ของประเทศ ให้ก้าวทันโลก เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่กิจกรรมทุกอย่างจะขับเคลื่อนบนมือถือและสมาร์ทโฟน กิจกรรมทุกอย่างจะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
“เมื่อก่อนรัฐบาลอาจให้ความสำคัญของกระทรวงคมนาคมว่าเป็นกระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอ แต่โลกดิจิทัลที่ทุกสิ่งทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิทัลนั้นกระทรวงดีอีเอสถือเป็นกระทรวงที่น่าจะมีบทบาทสูงสุดในการขับเคลื่อนประเทศเพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเงิน โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจทุกอย่างจะขับเคลื่อนผ่านเทคโนโลยีทั้งสิ้น”นายฐากร กล่าว-สำนักข่าวไทย.