กรุงเทพฯ 28 พ.ย.-นายกสั่ง 4 กระทรวงทำงานอัพเกรดแรงงานไทยรองรับอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมจัดสรรงบบูรณาการในปีงบ 60-61
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล ภาคอุตสาหกรรมจึงปรับตัวมุ่งไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วย ดังนั้น ประเทศไทย จึงมีความจำเป็นต้องยกระดับทักษะแรงงานในภาพรวมของประเทศครั้งใหญ่ให้เป็นแรงงาน 4.0 ด้วย หากไม่มีการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน จะทำให้ปัญหาแรงานตกงานเกิดขึ้นตามมาได้ ซึ่งพลเอก ประยุทธ จันโอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกระทรวงศึกษาธิการ บรูณาการทำงานร่วมกัน พร้อมรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนไปประกอบในการทำงาน โดยรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณ เป็นงบบูรณาการในปีงบประมาณ 60-61 ขณะที่สถาบันการศึกษาเมื่อทราบถึงทิศทางภาคอุตสาหกรรมที่ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ก็จะผลิตบุคลากรได้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ เพื่อให้การยกระดับแรงงานสู่ แรงงาน 4.0 รัฐบาล จะขยายกรอบความร่วมมือการทำงานในรูปแบบประชารัฐเพิ่มอีก 1 กรอบความร่วมมือ รวมเป็นกรอบที่ 14 โดยมีส.อ.ท.เป็นแกนนำ เพื่อทำยกระดับแรงงานร่วมกับภาครัฐรองรับการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรม 4.0
นายสุวิทย์ ยังกล่าว ปาฐกถา ในงานสัมมนา “ F.T.I. OUTLOOK 2017 อุตสาหกรรม 4.0 จุดเปลี่ยนประเทศไทย จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในยุค 3.0 แต่ไม่แข็งแรงเปรียบได้กับต้นไม้ที่ปักชำไม่มีรากแก้วที่สร้างความแข็งแรง เช่น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) มีจำนวน 2.7 ล้านราย แต่ชำระภาษีเพียง 600,000 กิจการเท่านั้น เป็นต้น อีกทั้ง ผู้ประกอบการร้อยละ 60 ยังอยู่ในอุตสาหกรรม 2.0 ประเทศไทย จึงติด 3 กับดัก คือ ติดกับดักรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความไม่ยั่งยืน เพื่อให้ก้าวพ้นกับดักเหล่านี้ รัฐบาลจึงประกาศ นโยบาย Thailand 4.0
ที่ผ่านมาประเทศไทยเสียเวลากับความขัดแย้งภายในประเทศ แต่ขณะนี้ถึงเวลาเปลี่ยนผ่านไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่จะต้องสร้างบุคลากรให้เป็นบุลคลากรยุค 4.0 ได้อย่างไรด้วย เช่น ความร่วมมือผ่านโครงการประชารัฐเพื่อก้าวสู่การศึกษา 4.0 ที่สามารถนำความรู้ไปสร้างนวัตกรรม แต่ยังมีคนไทยที่ยังไม่ถึง 4.0 อีกเป็นจำนวนมาก
สำหรับการก้าวสู่ Thailand 4.0 จำเป็นต้องเปลี่ยนคนไทยและผู้ประกอบการไทยให้ก้าวสู่ยุค 4.0 ด้วย ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่มผู้ประกอบการสตาร์อัพ และต้องทำให้ 18 กลุ่มจังหวัด จำนวน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ให้ก้าวสู่การเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง โดยสภาอุตสาหกรรมฯ จะสามารถทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ได้เพื่อกระจายออกไปทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อต่อยอดให้ประเทศเป็นประเทศการค้าหรือ Trading nation โดยต้องเชื่อมโยงกับประชาคมโลกรวมถึงการเชื่อมโยงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) โดยมอง 20 เมืองใหญ่ 30 เมืองรองใน 5 ประเทศคือ กัมพูชา เวียดนาม ลาว เมียนมาร์และประเทศไทย
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ตั้งเป้าหมายยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในปี พ.ศ.2568 โดยจะเดินหน้ายกระดับภาคอุตสาหกรรม ที่ขณะนี้อยู่ในช่วงอุตสาหกรรม 2.5 โดยจะปรับให้ขึ้นไปสู่อุตสาหกรม 3.0 ด้วยการใส่ระบบออโตเมชั่นเข้าไป และพัฒนาต่อเนื่องไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในที่สุด ส่วนที่มีความกังวลต่อสถานการณ์จ้างงานว่า อุตสาหกรรม 4.0 จะทำให้เกิดภาวะคนตกงานมหาศาล เรื่องนี้ ขอให้สบายใจได้ เพราะจะมีงานใหม่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมันนี หลังก้าวสู่อุสาหกรรม 4.0 ตลาดแรงงานพบว่า มีการจ้างงานสูงขึ้น เป็นผลจากการเกิดงานใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานตามมา
สำหรับการเตรียมความพร้อมยกระดับแรงงานไทยสู่แรงงาน 4.0 ทางส.อ.ท.หารือกับกระรวงแรงานและสวัสดิการสังคมมาในเบื้องต้นแล้ว -สำนักข่าวไทย