กรุงเทพฯ 25 ก.ค. – ระหว่างที่ยังต้องเฝ้าระวังว่า โควิด-19 จะกลับมาระบาดระลอก 2 หรือไม่ มีผู้คนจากหลายวงการ ทั้งแพทย์ คนไข้ ผู้ได้รับผลกระทบ พบประสบการณ์ชีวิตที่ยากลำบากในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เช่น กลุ่มนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ต้องตรวจยืนยันเชื้อโควิดตลอด 24 ชั่วโมง งานเสี่ยงและแบกรับแรงกดดันจากหลายด้าน ติดตามจากรายงานพิเศษ “เปิดประสบการณ์ชีวิตช่วงวิกฤติโควิด-19” วันนี้นำเสนอเป็นตอนแรก
การรับตัวอย่างเชื้อมาตรวจวินิจฉัย ด้วยวิธี RT-PCR เพื่อหาสารพันธุกรรมของโควิด-19 ให้แล้วเสร็จ และรายงานผลตรวจให้ทันภายใน 24 ชั่วโมง เป็นภารกิจหลักที่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ต้องแบกรับตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดหนักในไทย นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีทั้งหมด 16 คน ต้องแบ่งกะจัดเวรมาทำหน้าที่ตรวจยืนยันเชื้อโควิดตลอด 24 ชั่วโมง แต่ละวันมีเชื้อส่งมาให้ตรวจอย่างน้อย 500-700 ตัวอย่าง บางวันเกือบ 1,000 ตัวอย่าง แทบไม่มีเวลาพัก
อีกภารกิจที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ก็คือ การนำเชื้อตัวอย่างที่ตรวจแล้วได้ผลก้ำกึ่ง ไปแยกเชื้อด้วยเซลล์เพาะเลี้ยง ถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อให้ได้ผลตรวจที่ชัดเจน ซึ่งต้องทำในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 โดยผู้เชี่ยวชาญ
หัวหน้าฝ่ายไวรัสระบบทางเดินหายใจ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า แม้ในห้องแล็บมีการวางระบบและอุปกรณ์ป้องกันอย่างดี แต่ภาระงานที่ต้องใกล้ชิดกับเชื้อโควิด ทุกคนจึงต้องเก็บตัวอย่างจากตัวเองมาตรวจหาเชื้ออยู่ตลอด เพราะหากมีใครในทีมติดเชื้อขึ้นมา ก็จะไม่มีคนทำงานในส่วนนี้ แต่สิ่งที่กังวลมากกว่าการติดเชื้อ ก็คือ ต้องทนรับแรงกดดันจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะสังคมโซเชียล ที่กล่าวหาว่าปกปิดข้อมูล ทำให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อย บั่นทอนความรู้สึกของคนทำงาน
การตรวจยืนยันเชื้อโควิด-19 ในช่วงแรก ทำในแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และแล็บของโรงพยาบาลจุฬาฯ ตรวจคอนเฟิร์มควบคู่กัน แต่หลังยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น ก็มีการปรับเกณฑ์เฝ้าระวังสอบสวนโรค ปฏิบัติการเชิงรุก 1 จังหวัด 1 แล็บ รวมกว่า 100 แล็บ ครอบคลุมทั่วประเทศ รายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง ค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ได้เร็วและมากที่สุด และจนถึงขณะนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ยังต้องติดตามพัฒนาการของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง หากมีการระบาดในระลอก 2 เกิดขึ้น. – สำนักข่าวไทย