กรุงเทพฯ 23 ก.ค. – กรมประมงวิจัยการเพาะพันธุ์ปลากะพงทองสำเร็จเป็นครั้งแรก ผลักดันเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 (ภูเก็ต) กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสามารถเพาะพันธุ์ปลากะพงทอง หรือปลาอังเกยสำเร็จเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสำหรับทดแทนการจับจากธรรมชาติ ซึ่งนับวันมีปริมาณลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนเป็นการสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรไทย
สำหรับปลากะพงทอง ถือเป็นปลาทะเลเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย ฮ่องกง และจีน เป็นต้น ปัจจุบันยังไม่มีการเพาะเลี้ยงปลากะพงทองเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย ปลากะพงทองที่นำมาบริโภคส่วนใหญ่ได้มาจากการจับจากธรรมชาติ ราคาจำหน่ายค่อนข้างสูง โดยปลากะพงทองขนาด 800 – 1,000 กรัม กิโลกรัมละ 180 – 220 บาท กรมประมงจึงได้สนับสนุนให้หน่วยงานในสังกัดเร่งทำการศึกษา วิจัย การเพาะพันธุ์ปลากะพงทอง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรได้นำลูกพันธุ์ไปเลี้ยงเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงต่อไป
นางพิชญา ชัยนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 (ภูเก็ต) กล่าวว่า ปลากะพงทอง หรือรู้จักันแพร่หลายในชื่อปลาอังเกย พบได้ในทะเลฝั่งอันดามัน บริเวณจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และพังงา มีชื่อสามัญว่า Golden Snapper และชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lutjanus johnii ลักษณะลำตัวมีสีเหลืองทอง และมีจุดสีดำใหญ่บริเวณลำตัวค่อนมาทางครีบหาง ปากมีเขี้ยวและฟันแหลมคม เนื้อแน่น รสชาติดี มีกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 สูง สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น นึ่งซีอิ้ว ต้มยำ แกงส้ม ทอดกระเทียม ลวกจิ้ม และซาซิมิ เป็นต้น
ผลงานศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 (ภูเก็ต) ล่าสุดการเพาะพันธุ์ปลากะพงทองโดยใช้วิธีการฉีดฮอร์โมน Suprefact ร่วมกับ Motilium ทั้งในพ่อและแม่พันธุ์ปลาที่จับจากธรรมชาติ เพื่อกระตุ้นการสืบพันธุ์แล้วปล่อยให้ปลาผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ แม่ปลาที่ฉีดฮอร์โมนวางไข่ ไข่ฟักออกเป็นตัว อัตราฟักร้อยละ 85 จากนั้นจึงนำลูกปลาวัยอ่อนไปอนุบาลต่อในบ่อคอนกรีต ซึ่งลูกปลามีอัตราการรอดและการเจริญเติบโตที่ดี ขณะนี้กำลังเร่งผลิตลูกพันธุ์ปลากะพงทองขนาด 3 เซนติเมตร หรือ 1.2 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมต่อการนำไปเลี้ยงในกระชังได้ โดยจำหน่ายให้แก่เกษตรกรหลายรุ่นแล้ว ในราคาเริ่มต้นตัวละ 2 บาท (ขนาด 1 เซนติเมตร) ซึ่งมีเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงเช่น พังงา และกระบี่ ได้นำลูกพันธุ์ไปเลี้ยงในกระชังบริเวณริมฝั่งทะเล โดยให้กินปลาสดและอาหารเม็ด วันละ 1 – 2 มื้อ ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 8 – 9 เดือน จะได้ปลาขนาด 800 – 1,000 กรัม ซึ่งทยอยจับขายให้ร้านอาหารหรือภัตตาคารได้ ทำรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังได้ทำการปล่อยลูกปลากะพงทองจำนวนหนึ่งคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประชากรในแหล่งที่อยู่อาศัยเดิมให้คงความอุดมสมบูรณ์.-สำนักข่าวไทย