สำนักงาน กสม. 15 ก.ค.-กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้กระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อจัดทำรายงานอีไอเอ โครงการเหมืองแร่ถ่านหินกะเบอะดิน ละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมเสนอให้หน่วยงานทบทวน
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยถึงการพิจารณารายงานผลการตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในโครงการเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่หมู่บ้านกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งชาวบ้านได้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2562 โดยระบุว่า เมื่อปี 2542 บริษัทเอกชนได้ยื่นคำขอประทานบัตรประกอบกิจการเหมืองแร่ถ่านหิน ต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ โดยชาวบ้านเห็นว่าการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA มีข้อบกพร่องหลายประการ
นายวัส กล่าวว่า ในการประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา กสม.ได้พิจารณา เรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้วมีความเห็นว่า การรับฟังความคิดเห็นของชุมชนตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 จากการตรวจสอบพบว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของชุมชน เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2562 แต่ในวันดังกล่าวไม่สามารถจัดประชุมได้เนื่องจากมีประชาชนคัดค้าน ต่อมาภายหลัง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการหารือร่วมกันกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อตกลงในการกำหนดวันและสถานที่สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของชุมชนตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป ถือว่าเป็นการทำหน้าที่เพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ดังนั้น กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในส่วนนี้จึงยังไม่ปรากฏว่า มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประธาน กสม. กล่าวว่า ในส่วนการดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อประกอบการจัดทำรายงาน EIA พบว่า ในการจัดประชาคมหมู่บ้านกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เช่น มีประชาชนยืนยันว่าไม่เคยเข้าร่วมการประชุมมาก่อน แต่กลับปรากฏรายชื่อเป็นผู้เข้าร่วมการประชุมและลงชื่อเห็นด้วยกับโครงการเหมืองแร่ดังกล่าว นอกจากนี้ในชั้นการพิจารณารายงาน EIA คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ มีความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชนว่า ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาด้านการสื่อสารผ่านผู้นำชุมชน ซึ่งน่าจะมีผลต่อความเข้าใจในรายละเอียดของโครงการ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และวัตถุประสงค์ในการจัดประชาคมหมู่บ้านก็ให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนมากกว่าการให้ข้อมูลและรายละเอียดที่จำเป็นของโครงการ จึงย่อมทำให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นโดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของตนเอง การดำเนินการกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อประกอบการจัดทำรายงาน EIA ไม่สอดคล้องกับสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายวัส กล่าวว่า กสม. จึงมีข้อเสนอแนะ คือ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ควรนำรายงาน EIA โครงการทำเหมืองแร่ถ่านหินเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ เพื่อทบทวนรายละเอียดในส่วนของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีข้อบกพร่อง ในกรณีที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เห็นชอบกับรายงาน EIA และเห็นว่าเมื่อมีการประกอบกิจการเหมืองแร่ถ่านหินแล้ว เกิดผลกระทบทางลบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พึงกำหนดให้บริษัทเอกชนผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ มีแผนเยียวยาความเดือนร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ควรเร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการรับฟังความเห็นของชุมชนตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เพื่อลดความกังวลของประชาชนในพื้นที่ โดยให้ประชาชนได้รับทราบถึงวิธีการให้ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็น โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ที่เพียงพอเหมาะสมแก่การเข้าถึงข้อมูล โดยดำเนินการภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน
ขณะกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ควรนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน มาใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาประกอบการอนุญาตออกประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน เพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
หากในท้ายที่สุดแล้วจำเป็นต้องมีการอนุญาตให้สัมปทานแก่เอกชนเข้าทำเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่ดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ และกระทรวงมหาดไทย ควรต้องร่วมกันพิจารณาแนวทางการคุ้มครองวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงให้มีพื้นที่ทำกินอย่างเพียงพอและเหมาะสมในการดำรงชีวิตตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนอย่างสงบสุข
สำหรับกรณีนี้ กสม. เห็นว่า ประชาชนในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ถูกละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน จึงได้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยเร็ว.-สำนักข่าวไทย