ทำเนียบฯ 13 ก.ค.-นายกฯ ย้ำเร่งพัฒนา Data Center และ Cloud ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย ก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล คำนึงสิทธิส่วนบุคคลและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2563 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ว่า นายกรัฐมนตรีย้ำความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้วางแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่อนาคต ทั้งการพัฒนา Data Center และ Cloud ที่มีมาตรฐานและปลอดภัย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการให้บริการข้อมูลภาครัฐ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
นางนฤมล กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการใช้ข้อมูลในการบริหารราชการให้สอดคล้องกับงบประมาณของประเทศที่มีอยู่ เพื่อความโปร่งใส คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยทุกหน่วยราชการต้องมีข้อมูลที่ทันสมัย เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
นางนฤมล กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ในระดับรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติ ตอบสนองความต้องการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการ เกิดการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเป็นระบบ
“ทั้งนี้ คณะกรรมการดีอี ยังสนับสนุนตามที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เสนอเส้นทางการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเส้นทางที่การไฟฟ้านครหลวงไม่มีการรื้อถอนเสาไฟฟ้าและไม่มีสภาพบังคับ จำนวน 12 เส้นทาง รวมระยะทาง 48.7 กิโลเมตร” นางนฤมล กล่าว
นางนฤมล กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี ยังย้ำถึงแผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ ต้องส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลได้อย่างเหมาะสมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmer) การค้าออนไลน์ สุขภาพ การศึกษา การท่องเที่ยว คมนาคม โดยนายกรัฐมนตรีกำชับให้คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล ยึดความต้องการของประชาชนเป็นเป้าหมายในการทำงาน ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ รับทราบผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ IMD ของสถาบัน IMD World Competitiveness Center ในภาพรวมประจำปี 2563 โดยไทยถูกจัดอยู่ที่ 29 จาก 63 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ผลการจัดอันดับกลุ่มปัจจัยย่อยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของไทย ปรับตัวดีขึ้น 4 อันดับ ในลำดับที่ 34 จาก 63 ประเทศ โดยตัวชี้วัดที่มีอันดับโดดเด่น อาทิ ตัวชี้วัดผู้ลงทะเบียนใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ การพัฒนาและเปิดตัวเว็บไซต์ www.bigdata.go.th เพื่อให้ความรู้แก่บุคลากรภาครัฐและประชาชนทั่วไป เรื่องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงดิจิทัลฯ ยังสนับสนุนภารกิจ โดยจัดทำแอปพลิเคชันหมอชนะ , ไทยชนะ , AOT Airport Card2U , อาสาสมัครดิจิทัล และกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ เปิดให้ยื่นข้อเสนอโครงการสนับสนุนเยียวยาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงิน 1 พันล้านบาท ซึ่งได้อนุมัติจำนวน 42 โครงการ.-สำนักข่าวไทย