กทม. 9 ก.ค. – ยังมีความเห็นต่างหลัง ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งยังต้องผ่านทั้ง 2 สภาฯ จึงจะประกาศใช้ นักกฎหมายเห็นว่ากฎหมายสะท้อนความเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องคำนึงถึงความรู้สึกร่วมกันของคนในสังคม ขณะที่เอ็นจีโอด้านความหลากหลายทางเพศมองว่ายังไม่เกิดความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย
หลัง ครม. มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ พร้อมแฮชแท็ก #ไม่เอา พ.ร.บ.คู่ชีวิต จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับต้นๆ บางคนมองว่าอยากให้ใช้กฎหมายเดียวกับการแต่งงานระหว่างชายและหญิง เพื่อความเท่าเทียมกันมากกว่า
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่น่าสนใจคือ ให้บุคคลเพศเดียวกันจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย หรือดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภรรยา มีการแบ่งสินทรัพย์เป็นสินส่วนตัวและสินทรัพย์ร่วมกัน สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ มีสิทธิเช่นเดียวกับคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
ส่วนร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ ครม. เห็นชอบ เพื่อให้สอดคล้องกัน กำหนดให้ชายหรือหญิงจะสมรสขณะที่มี “คู่สมรส” หรือ “คู่ชีวิต” อยู่ไม่ได้ รวมไปถึงเหตุแห่งการฟ้องหย่า และการรับค่าเสี้ยงชีพกรณีหย่าหมดไปหากอีกฝ่ายมีคู่ชีวิตใหม่
ขณะที่ยังมีร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนออีกหนึ่งฉบับ ซึ่งยืนสภาโดยตรง ขณะนี้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมีมากถึง 50,000 ความเห็นแล้ว ในมุมมองนักกฎหมายเห็นว่าร่างกฎหมายที่ผ่านมติ ครม. คือการให้สิทธิที่เป็นรูปเป็นร่างอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน กฎหมายเกิดจากความรู้สึกร่วมกันในสังคม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนกฎหมายก็เปลี่ยน และในอนาคตอาจมีการขยายสิทธิมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กฎหมายยังต้องผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ก่อนประกาศใช้
ขณะที่รองประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ แม้จะเห็นด้วยว่าเป็นครั้งแรกของสังคมไทยที่จะให้แอลจีบีทีจดทะเบียนกันได้ แต่ยังไม่สมบูรณ์เฉกเช่นหญิงและชาย เช่น ยังขาดสวัสดิการสังคม สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่หากเป็นคู่สมรสชายหญิงจะได้รับ และตั้งข้อสังเกตการแยกกฎหมายออกมาอีกฉบับ ทำให้ไม่เกิดความเสมอภาคด้านกฎหมาย
ทั้งนักกฎหมายและเอ็นจีโอด้านความหลากหลายทางเพศ เห็นตรงกันว่ากว่าจะผ่านขั้นตอนจนประกาศใช้กฎหมายคู่ชีวิต อาจใช้เวลาถึง 2 ปี แต่ถ้าจะแก้กฎหมายหลัก คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บางคนมองว่าเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันนั้น อาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปี.-สำนักข่าวไทย