สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 8 ก.ค. – ผู้ประกอบการร้องผู้ตรวจการแผ่นดินชะลอการใช้ประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์ เหตุเขียนข้อกฎหมายกว้างเกิน อาจส่งผลกระทบในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังใช้โลกโซเชียล
สมาพันธ์ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสุราแห่งประเทศไทย นำโดย นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ ชมรมผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายคราฟเบียร์ พร้อมสมาชิก เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน เพื่อขอให้ชะลอการบังคับใช้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์
นายอาชิระวัสส์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ไปยื่นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานนายกรัฐมนตรี แล้ว กฎหมายนี้ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. และเข้าใจว่าจะสามารถออกเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้โดยเร่งด่วน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อธุรกิจการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 800 ราย และอาจจะมีมากกว่านั้น
“ถ้ามีผลห้ามขายแอลกอฮอล์ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ รายได้ส่วนนี้จะหายไปปีละ 600- 800 ล้านบาท จึงขอให้พูดคุยกับผู้ประกอบการให้ช่วยชะลอการพิจารณาออกไปก่อน เพราะถ้าหากมีผลบังคับใช้จริงๆ จะส่งผลให้ธุรกิจต้องปิดกิจการ และเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก” นายอาชิระวัสส์ กล่าว
นายอาชิระวัสส์ กล่าวว่า ส่ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ที่มีการขายผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ เข้าใจว่ายังไม่ทราบว่ากฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ แต่เราในฐานะผู้ประกอบการรายย่อย ค่อนข้างได้รับผลกระทบเร็วกว่า จึงต้องมายื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาชะลอการบังคับใช้ และทบทวนเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวด้วย
“อยากให้ผู้ที่ร่างประกาศดังกล่าวได้หารือกับผู้ประกอบการ เพื่อที่จะเขียนข้อความเพิ่มเติมให้ครอบคลุมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากกังวลว่าการกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์กินความกว้างเกินไป ผู้ประกอบการคิดว่า อาจจะครอบคลุมไปถึงอีเมล เฟซบุ๊ก ไลน์ รวมถึง ทางโทรศัพท์ ซึ่งได้รับผลกระทบต่อการสั่งซื้อขาย และการติดต่อระว่างผู้ซื้อและผู้ประกอบการ ที่อาจจะมีการติดต่อทางใดทางหนึ่ง และการออกกฎหมายฉบับนี้อาจจะกระทบไปถึงการขายช่องทางปกติด้วย ดังนั้น กฎหมายที่ออกมาจะต้องระบุให้ชัดเจน” นายอาชิระวัสส์ กล่าว
นายอาชิระวัสส์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องการให้มีการหารือกรณีการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเยาวชน และห้ามขายเกินเวลา เพื่อหาทางออกร่วมกันในเรื่องของการยืนยันตัวตนผู้ซื้อในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยอาจจะเป็นแพลตฟอร์มเช่นเดียวกัน ”ไทยชนะ” และการจัดส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกินเวลาที่กำหนด ผู้ประกอบการพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว
ด้าน นายศุภพงษ์ พรึงลำภู ชมรมเบียร์บรูเออร์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาได้มีการปิดร้าน ทำให้สูญเสียรายได้ ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยหันมาขายออนไลน์เป็นหลัก หากกฎหมายฉบับนี้มีการบังคับใช้ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ เนื่องจากไม่มีช่องทางจัดจำหน่ายทั่วประเทศเหมือนกับผู้ผลิตรายใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นห่วงว่า การตีความว่าห้ามจำหน่ายผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์อาจผิดเพี้ยน เนื่องจากเป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ .- สำนักข่าวไทย