กทม. 1 ก.ค. – การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 อยู่ภายใต้การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 นักวิชาการยังคงห่วงว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วแสนล้านบาท แบ่งตามโครงสร้างเป็นงบรายจ่ายประจำกว่า 2 ล้านล้านบาท งบลงทุนกว่า 600,000 ล้านบาทงบกลางกว่า 600,000 ล้านบาท และรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ กว่า 200,000 ล้านบาท
กระทรวงศึกษาธิการยังคงเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบมากที่สุด กว่า 350,000 ล้านบาท รองลงมาคือ กระทรวงมหาดไทย คลัง กลาโหม และคมนาคม ขณะที่กระทรวงพลังงานได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุด
เป็นที่สังเกตว่า งบปี 64 กระทรวงกลาโหมยอมลดงบกว่า 8,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 ไปเพิ่มให้ในส่วนของงบกลาง ที่ตั้งไว้กว่า 600,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน เกือบ 20% ในส่วนค่าใช้จ่ายบรรเทาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด จำนวนกว่า 40,000 ล้านบาท และสำรองจ่ายฉุกเฉิน 99,000 ล้านบาท
แต่ไส้ใน งบกลาโหมที่ตั้งไว้กว่า 200,000 ล้านบาทนั้น มากสุดอยู่ที่กองทัพบก กว่าแสนล้านบาท รองลงมาคือ กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ที่ส่วนใหญ่ใช้สำหรับแผนงานด้านความมั่นคง พัฒนาศักยภาพป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ
นักวิชาการมองว่ายังมีความจำเป็นต้องจัดงบแบบขาดดุล และต้องรอดูมาตรการอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปต่อ สิ่งสำคัญต้องมีกลไกตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณเข้มข้น
ขณะที่นักวิชาการยังมีความห่วงว่าภายใต้งบตัวนี้ ไทยจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน เพราะงบปี 64 เป็นรอยต่อ ระยะ 3 และ 4 ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เข้าสู่ภาวะปกติหลังวิกฤติโควิด
สุดท้ายแล้วคงต้องติดตามว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการการใช้จ่ายงบประมาณปี 64 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่. – สำนักข่าวไทย