พระนครศรีอยุธยา 1 ก.ค. – “สมคิด” หนุนกองทุนหมู่บ้านฯ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน หวังดึงคนไทยเที่ยวไทย หลังโควิด-19 คลี่คลาย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวระหว่างลงพื้นที่เยี่ยมกองทุนหมู่บ้านท้องคุ้ง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า ได้ติดตามการเติบโตของกองทุนหมู่บ้าน ตั้งแต่ก่อตั้งปี 2545 เกือบ 20 ปี เพื่อต้องการยกระดับความเป็นอยู่ของสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน เพราะเมื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้มแข็งจะทำให้การเมืองในประเทศพัฒนาไปด้วยเช่นกัน เพราะชาวบ้านจะเลือกนักการเมืองน้ำดีเข้ามาพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ ระหว่างตรวจเยี่ยมบูธสินค้าชุมชนของกองทุนหมู่บ้าน นายสมคิด ได้แวะชมกลุ่มชาวบ้านจัดทำมีดอรัญญิก จากนั้นชาวบ้านลองให้นายสมคิด ลองจับมีดอรัญญิก เพื่อวัดความยาวของมือไปตามความยาวมีด ไล่ตั้งแต่ด้ามมีด หมายถึง ปลอดภัยนิรันดร์ ไพรีพินาศ ราชทัณฑ์ วรรณราช จบความยาวมีดตรง “ปราบพระนคร” และมีความยาวปลายมีดเหลืออยู่เป็น “บัวพ้นน้ำ” หมายถึง ปราบศัตรูหมู่มารได้หมดสิ้น แม้แต่ปัญหาการเมืองที่คนไม่หวังดี จึงมีชาวบ้านปรบมือให้กำลังใจจำนวนมาก
นายสมคิด กล่าวย้ำว่า กองทุนหมู่บ้านนับเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ จึงต้องการใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 400,000 ล้านบาท เพื่อนำมาพัฒนาชุมชน เพราะการทำให้เศรษฐกิจของประเทศ หรือจีดีพีแท้จริง ต้องมาพัฒนาจากการเติบโตจากภายใน ยืนยันว่ากองทุนหมู่บ้านฯ ไม่ได้โดดเดี่ยว เพราะต้องนำธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน สถาบันการศึกษา มาช่วยพัฒนาชุมชน และพร้อมดึงภาคเอกชนมาช่วยส่งเสริมการตลาด เช่น บมจ.ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเอกชนอีกหลายราย จึงไม่ต้องการให้ชาวบ้านกังวลว่าบริษัทเอกชนจะเข้ามาเอาเปรียบชุมชน เพื่อใช้เป็นเครือข่ายรวมกัน เช่น คูโบต้า พร้อมนำเครื่องมือ เครื่องจักรทางการเกษตร นำมาให้ชุมชนเช่าซื้อ หรือเช่า เช่น เครื่องสีข้าวชุมชน รถไถ รถเเกี่ยวข้าว เครื่องมือ เครื่องจักรทางการเกษตร จำนวนมาก เพื่อลดภาระของชาวบ้านหากซื้อต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่หากรวมกลุ่มเป็นกองทุนหมู่บ้าน จะมีกำลังซื้อได้มากขึ้น
นายสมคิด ยังได้ลงเรือตามโครงการอนุรักษ์คลองอ้อมเกาะเพื่อการท่องเที่ยวทางน้ำ เพื่อติดตามดูแนวทางการใช้งบประมาณในโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำไปสร้างท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวทางน้ำ และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับกองทุนฯ ต่าง ๆ จากทั่วประเทศ ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาดูแลงานเพื่อกลับไปพัฒนาชุมชนของตนเอง เพื่อมุ่งการท่องเที่ยวชุมชน ต้องการผลักดันให้กลุ่มชาวบ้านลุกขึ้นมาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จัดทำแหล่งที่พัก จุดขายอาหาร นำสินค้าชุมชนออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวตามโปรแกรมทัวร์ เพราะเมื่อดึงการท่องเที่ยวช่วงที่ต่างชาติยังเข้าประเทศไทยไม่ได้ จึงต้องการให้คนไทยเที่ยวไทยมากขึ้น และช่วงนี้คนไทยอยากออกไปท่องเที่ยวตามแหล่งต่าง ๆ หากมีการจัดทำเรื่องราวของชุมชนให้น่าสนใจ ทั้งประโยชน์จากการรับประทานอาหารท้องถิ่น เช่น ผักบุ้งริมคลองอ้อม เป็นผักปลอดสาร นำมาทำแกงเทโพ ไข่เป็ดขาวสะอาด เมื่อเป็ดได้กินอาหารจากรำข้าวจากโรงสีชุมชน ทำให้ไม่มีกลิ่นคาว สิ่งเหล่านี้หากทุกหน่วยงานมาร่วมมือกันจะดึงการท่องเที่ยวชุมชนได้เพิ่มขึ้น.- สำนักข่าวไทย