สำนักข่าวไทย 1 ก.ค.- “พล.อ.ประวิตร” ประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฯ หนุนประกาศเขตเมืองเก่าร้อยเอ็ด เสริมภูมิทัศน์คลองคูเมืองเดิมเป็นแหล่งท่องเที่ยวรัตนโกสินทร์ ดึงประชาชนมีส่วนร่วมอนุรักษ์
เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (1 ก.ค.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ดร. รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขานุการ เป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า โดยขยายเขตกรุงรัตนโกสินทร์จาก 3 บริเวณ เป็น 4 บริเวณ ซึ่งบริเวณที่ 4 ครอบคลุมพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และเห็นชอบโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองคูเมืองเดิม และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานคลองหลอดวัดราชนัดดาและคลองหลอดวัดราชบพิธ ให้สวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเชิงนิเวศและพื้นที่อนุรักษ์วัฒนธรรม โดยมอบให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินงานโครงการให้มีความสอดคล้องกลมกลืนกับพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์และคำนึงถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ได้อย่างเหมาะสม
ที่ประชุมได้เห็นชอบการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าร้อยเอ็ด ครอบคลุมพื้นที่กำแพงเมือง คูเมืองร้อยเอ็ด บึงพลาญชัย และศาสนสถานที่สำคัญ อาทิ วัดเหนือ วัดกลางมิ่งเมือง วัดบูรพาภิราม วัดสระทอง วัดบึงพลาญชัย และศาลเจ้าร้อยเอ็ด รวมทั้งย่านการค้าบริเวณถนนผดุงพานิช และแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า 3 เมือง ได้แก่ เมืองเก่าพะเยา เมืองเก่าสุพรรณบุรี และเมืองเก่าสุรินทร์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เมืองเก่า นำไปขับเคลื่อนงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าให้มีความสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ เพื่อดำรงคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมสืบต่อไป โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ ในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า จะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยหน่วยงานภาครัฐจะดำเนินการร่วมกับนักปราชญ์ท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และเยาวชนในท้องถิ่น เพื่อเชื่อมประสานให้เป็นเมืองที่มีชีวิต มีมิติทางสังคมและประวัติศาสตร์ รวมทั้งมีการวางแนวทางการแบ่งโซนหรือพื้นที่อนุรักษ์เมืองเก่าให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ได้ใช้ประโยชน์และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ เช่น การมีลานกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อเปิดโอกาสให้มีพื้นที่แสดงดนตรี ศิลปะพื้นเมือง และโชว์ความสามารถของเยาวชนคนรุ่นใหม่ และยังเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นร่วมเรียนรู้ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นหลากหลายรูปแบบ อันจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจและความสมัครสมานสามัคคีของท้องถิ่น และเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ เช่น มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการอนุรักษ์ต่อไป.-สำนักข่าวไทย