สจล. 29มิ.ย..- สจล. โชว์ผลงาน “ดีไซน์ดิสรัปชัน” ลดเสี่ยงโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชน ห้องเรียน โรงพยาบาล ชี้ 3 เทรนด์ดีไซน์ 1. รักษาความสะอาด 2. User friendly และ3.ต้องให้สังคมเข้าถึงได้
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ตลอดช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 สจล. ได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ตรวจคัดกรอง และรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อาทิ นวัตกรรมตู้ตรวจเชื้อความดันลบ ความดันบวก รถตู้โมบายล์ Swab Test ระบบ AI คัดกรองอุณหภูมิ เป็นต้น ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นผลสำเร็จจากการบูรณาการองค์ความรู้ด้านต่างๆ ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง แต่งานออกแบบจะยังคงมีบทบาทในการช่วยเหลือสังคมต่อไป โดยเฉพาะในด้านการออกแบบที่เปลี่ยนไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยในยุคหลังโควิด-19 (Design disruption) โดย สจล. ได้เปิดตัว 3 แนวคิดดีไซน์ดิสรัปชัน ประกอบด้วย
1. งานออกแบบเพื่อสุขอนามัยส่วนตัวในพื้นที่ส่วนรวม แม้ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น แต่การดูแลสุขอนามัยส่วนตัวในพื้นที่ส่วนร่วมยังคงเป็นเรื่องสำคัญ งานออกแบบจึงต้องคำนึงถึง การเว้นระยะห่างทางสังคม // การติดตั้งระบบฆ่าเชื้อด้วย UV-C หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ตามจุดต่างๆ // การเลือกใช้วัสดุที่ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ // การออกแบบระบบกรองอากาศเพื่อป้องกันเชื้อโรค เป็นต้น
2. งานออกแบบเพื่อความสะดวกต่อผู้ใช้งาน โดยต้องคำนึงถึงสุขลักษณะ และเพื่อผู้ใช้ทุกกลุ่ม (Universal design) ให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างปลอดภัย และปลอดเชื้อไปพร้อมกัน
3. งานออกแบบที่สังคมเข้าถึงได้ คือการออกแบบต้องสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในสังคม นักออกแบบต้องวางแผนกระบวนการผลิตให้ออกมาเป็นจริงได้ ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ การคำนวณต้นทุน ปริมาณการผลิตที่สมเหตุสมผล ตลอดจนการประเมินความสามารถในการใช้งานได้จริงในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น เพื่อให้งานออกแบบสามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้เป็นวงกว้าง
ทั้งนี้ สจล. ได้นำร่องประยุกต์ใช้แนวคิดการออกแบบดังกล่าว ในห้องเรียนเพื่อต้อนรับการกลับมาเปิดภาคเรียนในเดือนสิงหาคม ที่จะยังคงมีการเรียนทั้งในรูปแบบออนไลน์ และการเรียนในห้องเรียนอย่างปลอดภัยภายใต้สิ่งอำนวยความสะดวก และมาตรการป้องกันการติดเชื้อ
ด้าน ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้เตรียมนำแนวคิดดีไซน์ดิสรัปชันมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบในพื้นที่ความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ และพื้นที่สาธารณะที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก หลังมาตรการคลายล็อกดาวน์เฟส 5 ซึ่งมีแนวโน้มที่ผู้คนจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามวิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างพื้นที่สาธารณะที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. กำลังเดินหน้าพัฒนางานออกแบบเพื่อยกระดับการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย ได้แก่ งานออกแบบในโรงเรียน ต้องคำนึงถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม ที่ต้องรักษาระยะห่าง โดยใช้ระบบแบ่งกลุ่มจำนวนนักเรียนต่อห้อง การใช้ที่กั้นระหว่างโต๊ะเรียน โต๊ะอาหาร เป็นต้น งานออกแบบในโรงพยาบาล ต้องให้ความสำคัญกับการคัดกรองผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งโรคติดต่ออื่นๆ โดยการตั้งจุดคัดกรองตั้งแต่ก่อนเข้าอาคาร ซึ่งอาจใช้ระบบการออกแบบห้องตรวจคัดกรองแบบความดันบวกเพื่อให้แพทย์ใช้ตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยงติดเชื้ออย่างปลอดภัย การติดตั้งระบบกรองอากาศในบริเวณที่แพทย์ต้องทำหัตถการให้แก่ผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ เป็นต้น
ในขณะที่ การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้าน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่ก็ต้องมีการออกแบบที่รองรับการอยู่ร่วมกันของคนแต่ละวัยอย่างปลอดภัย เพราะกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย การอยู่ร่วมกันในบ้าน จึงต้องมีการแบ่งเขต ระหว่างคนวัยเรียน ทำงาน และผู้สูงอายุ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากผู้ที่ออกไปข้างนอกเป็นประจำ โดยอาจออกแบบให้ผู้สูงอายุอยู่ในห้องนอนติดกระจกใสชั้นล่าง เพื่อให้ยังมองเห็นคนในครอบครัว และไม่รู้สึกว่าถูกแยกขาดจากกันมากเกินไป นอกจากนี้ แม้ว่าสถานที่ทำงานหลายแห่งจะกลับมาเปิดทำการตามปกติ แต่แนวโน้มการทำงานจากที่บ้านจะมีเพิ่มขึ้น ดังนั้น การออกแบบบรรยากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการทำงานที่บ้าน (Work station) ก็เป็นอีกเทรนด์ออกแบบที่น่าสนใจ ผศ.ดร.อันธิกา กล่าวทิ้งท้าย.-สำนักข่าวไทย