กรุงเทพฯ 16 มิ.ย. – กพท.ถกสายการบิน – สนามบิน เตรียมความพร้อมให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศ คาดกลับมาบิน ก.ย.นี้ ชี้แม้ไทยเปิดน่านฟ้ายังมีปัจจัยจำนวนผู้โดยสารและมาตรการของประเทศปลายทางเข้ามากระทบการตัดสินใจของสายการบิน
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการสายการบินของไทยและต่างประเทศ ผู้ประกอบการสนามบิน ผู้แทนจาก สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และผู้แทนจากคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินประเทศไทย (AOC) เพื่อชี้แจงข้อกำหนดและเงื่อนไขการเดินอากาศใหม่ ที่องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และ IATA กำหนดภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้สายการบินและผู้ประกอบการสนามบินได้รับทราบถึงมาตรการและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน หากรัฐบาล หรือ ศบค.มีการผ่อนปรนให้สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ และ กพท.ประกาศเปิดน่านฟ้าให้ทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศได้ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดในการยกเลิกการเว้นที่นั่งภายในเครื่องบิน , การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์กรองอากาศและระบบหมุนเวียนอากาศภายในเครื่องบินให้เหมาะสม , ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง , ห้ามเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มในเส้นทางที่ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง, การจัดเตรียมอาหารและน้ำดื่มจะต้องมีการปิดผนึกแพคเกจอย่างเรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดในการกันพื้นที่นั่งแยกไว้รองรับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยออกจากผู้โดยสารปกติ โดยสายการบินจะต้องประเมินความเสี่ยงของเส้นทางที่จะไป หากเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง ถือว่าความเสี่ยงต่ำ จะกันพื้นที่ไว้หรือไม่ก็ได้
ส่วนการเปิดน่านฟ้าให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศต้องอยู่ภายใต้การตัดสินใจของ ศบค. และรัฐบาล เบื้องต้นมองว่านักธุรกิจมีความเสี่ยงน้อยกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากแต่ละบริษัทจะมีมาตรการคัดกรองและดูแลสุขภาพของผู้ที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศอยู่แล้วและสามารถตรวจสอบได้
อย่างไรก็ตาม จากการหารือวันนี้สายการบินต่าง ๆ ยังไม่มีการส่งสัญญาณว่าจะเริ่มกลับมาบินเส้นทางระหว่างประเทศ เนื่องจากข้อกำหนดการปิดน่านฟ้าของ กพท.ยังมีผลบังคับใช้ถึง 30 มิถุนายนนี้ โดยส่วนใหญ่ยังต้องการทราบแนวทางและมาตรการในทางปฏิบัติที่ชัดเจนจากภาครัฐ รวมถึงขั้นตอนที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติหากต้องการเดินทางไปต่างประเทศ และมาตรการของประเทศปลายทาง เพื่อประเมินสถานการณ์และความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะกลับมาเปิดบินอีกครั้งเมื่อไหร่ ซึ่งขณะนี้สายการบินยังไม่สามารถประเมินปริมาณความต้องการของผู้โดยสารได้ และอาจต้องรอดูสถานการณ์จนถึงสิ้นเดือนนี้ เพื่อไม่ให้การกลับมาบินอีกครั้งทำให้ต้องประสบภาวะขาดทุน หรือไม่คุ้มทุน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ IATA ที่ทำการสำรวจข้อมูลจาก 122 สายการบินทั่วโลก พบว่าการทำการบินแต่ละครั้งจะต้องมีผู้โดยสารบนเครื่องบิน (Load Factor) ไม่น้อยกว่า 77% จึงจะคุ้มทุน หากจำนวนผู้โดยสารต่ำกว่านั้น อาจเสี่ยงกับการขาดทุนได้
ผอ.กพท. ยังคาดการณ์ว่าปีนี้จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศในส่วนของประเทศไทยจะหายไปถึง 70% และเหลือเดินทาง 30% เท่านั้น เกือบทั้งหมดเป็นเส้นทางภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการบินในเส้นทางระหว่างประเทศจะเริ่มกลับมาได้ในช่วงเดือนกันยายน 2563
ส่วนภาพรวมการให้บริการของท่าอากาศยานสำคัญขณะนี้ เรืออากาศโทสัมพันธ์ ขุทรานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ระบุว่า หลังจากการปลดล็อกเส้นทางบินภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งวันดังกล่าวท่าอากาศยานดอนเมืองมีเที่ยวบินให้บริการเฉลี่ยวันละ 45 เที่ยวบิน ผู้โดยสารประมาณ 3,000 คน แต่หลังจากท่าอากาศยานปลายทางภายในประเทศต่าง ๆ ทยอยเปิดให้บริการจนถึงปัจจุบันนี้ท่าอากาศยานดอนเมืองมีเที่ยวบินอยู่ที่ 150 เที่ยวบินต่อวัน มีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยต่อวัน 13,000 คน และหากสถานการณ์การเดินทางภายในประเทศ หลังจากพบว่าไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่เข้าวันที่ 21 แล้ว (ไม่รวมผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ) ก็จะทำให้สถานการณ์การเดินทางโดยอากาศยานภายในประเทศเกิดความมั่นใจมากขึ้น ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยยอมรับว่าสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศณขณะนี้ยังคงมีความจำเป็นต้องหยุดให้บริการ เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด ระลอกใหม่
ขณะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากการปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศตามประกาศของ กพท. โดยเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิผู้โดยสารลดลงมากกว่าร้อยละ 95 เหลือเพียงผู้โดยสารเดินทางวันละกว่า 3,000 คนเท่านั้น จนกระทั่งล่าสุดสายการบินไทยสมายล์กลับมาทำการบินแล้ว 9 เส้นทางบิน 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีเที่ยวบินภายในประเทศของสายการบินไทยสมายล์ ไทยเวียตเจ็ท และบางกอกแอร์เวย์สบินให้บริการ
นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า เดือนมิถุนายนนี้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีเที่ยวบินเฉลี่ยต่อวัน สำหรับเส้นทางบินในประเทศ 53 เที่ยวบิน มีคนใช้บริการเพียงกว่าวันละ 3,699 คน ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งยังมีเครื่องบินพิเศษรับส่งผู้โดยสารจากประเทศต่าง ๆ กลับมาประเทศไทย และจากประเทศไทยไปประเทศปลายทางอื่น ๆ รวมทั้งเที่ยวบินสินค้าภายในเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่วันละ 106 เที่ยวบิน ผู้โดยสารที่เหลืออยู่ที่ 1,432 คนต่อวัน เนื่องจากปัจจุบันแม้จะมีการคลายล็อกแต่คงต้องรอสถานการณ์อีกระยะหนึ่ง คาดว่าคนจะกลับมาใช้บริการสายการบินอีกครั้ง โดยยอมรับว่าการเปิดให้บริการท่าอากาศยานภูเก็ตก็จะมีส่วนสำคัญแน่นอน
ส่วนอัพเดทการเปิดให้บริการของท่าอากาศยานทั่วประเทศขณะนี้ได้เปิดทำการบินหมดแล้ว ทั้งท่าอากาศยานในสังกัดของกรมท่าอากาศยาน 28 แห่ง และท่าอากาศยานในสังกัดของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย โดยการประกาศเปิดท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมาถือว่าขณะนี้ท่าอากาศยานทั่วประเทศได้เปิดให้สายการบินทำการบินจนครบหมดแล้ว.-สำนักข่าวไทย