อนาคตสื่อไทย หลังโควิด-19

กทม. 16 มิ.ย.- ในยุคที่สื่อสารมวลชน มีการปรับตัวการทำงานจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี มาอย่างหนักช่วงที่ผ่านมา เมื่อเจอกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ยิ่งทำให้เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน หลังจากเหตุการณ์นี้กำลังคลี่คลาย อนาคตของสื่อไทยจะเป็นอย่างไร ผ่านมุมมองจากคนทำสื่อและนักวิชาการ



นายประณต วิเลปสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถานีไทยรัฐทีวีและผู้อำนวยการฝ่ายบรรณาธิการทีวี ในฐานะผู้บริหารสื่อทีวีดิจิทัล มองอนาคตการทำงานของสื่อหลังเหตุการณ์โควิด-19 ว่า สื่อก็เหมือนกับธุรกิจอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โควิด-19 ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แม้ไทยรัฐทีวีจะได้รับความนิยมจากผู้ชมในช่วงเหตุการณ์โควิดสูง จนทำให้เรตติ้งของช่องขยับขึ้นมาอยู่ในลำดับต้นๆ แต่รายได้จากเม็ดเงินโฆษณาก็ลดลงไปอย่างมากจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายยังคงมีอยู่คงที่และเพิ่มขึ้นทั้งเงินเดือนพนักงาน การซื้ออุปกรณ์ป้องกัน เพิ่มประกันสุขภาพ ไปจนถึงค่าใช้จ่ายหลักคือสัมปทานที่ต้องจ่ายในแต่ละปี

“จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ยังไม่เกิดเหตุการณ์โควิด-19 สื่อทีวีดิจิทัลก็อยู่ในสภาวะลำบากอยู่แล้ว หลายช่องต้องปิดตัวกันไปจากเม็ดเงินโฆษณาที่มีอยู่อย่างจำกัด


เมื่อต้องมาเจอกับสภาวะเช่นนี้ ยิ่งซ้ำเติมทีวีดิจิทัลเข้าไปอีก การดำรงอยู่ของแต่ละสถานีจึงเป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง”

สำหรับรูปแบบการทำงานสื่อที่ปรับตัวในช่วงโควิดทั้งเว้นระยะห่างฯ WFH ไลฟ์สตรีมมิ่ง สัมภาษณ์แหล่งข่าวผ่านสื่อออนไลน์ ฯลฯ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี มีความเห็นว่า เชื่อว่าคนทำสื่อทุกคนทราบดีว่าควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรตราบเท่าที่เรายังไม่มีวัคซีน และเห็นด้วยกับการใช้ทุกวิธีเพื่อเว้นระยะห่างระหว่างแหล่งช่าวและผู้สื่อข่าว ที่ผ่านมาทางสถานีได้ออกระเบียบสำหรับผู้ปฏิบัติงานภาคสนามและผู้ปฏิบัติภายในองค์กรให้ตระหนักถึงอันตรายที่คาดไม่ถึง  มีการให้อุปกรณ์ป้องกันสำหรับผู้ที่ออกไปปฏิบัติงาน และผู้ที่ทำงานอยู่ในสถานี ซึ่งยังจะคงมาตรการนี้ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

แน่นอนว่าช่วงโควิด-19 สื่อบางแห่งปรับขยับองค์กรให้เล็กลง บางแห่งเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ประณต มองว่า หลังจากนี้ คือสถานการณ์ที่เรียกว่า”เผาจริง”ของทุกสื่อ ทุกธุรกิจ เชื่อว่าไม่มีผู้บริหารคนไหนอยากปลดหรือเลิกจ้างพนักงาน แต่เพื่อความอยู่รอดขององค์กร แต่ละองค์กรอาจเลือกตัดสินใจแตกต่างกันไป บางที่อาจใช้จังหวะนี้ทำองค์กรให้กระชับ เล็กลง เพื่อให้กิจการผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายนี้ไปให้ได้ บางแห่งอาจเลือกปรับหรือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง มันเป็นสภาวการณ์ที่อยากบอกกับคนสื่อทุกคนว่า ต้องปรับตัวและฝ่าฟันกับสถานการณ์เลวร้ายนี้ไปให้ได้ และหากเป็นไปได้อยากให้ทบทวนเม็ดเงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าสัมปทานให้กับ กสทช.อีกสักรอบ เพื่อนำมาประคองบุคลากรในวงการทีวีดิจิทัล ไม่ให้เป็นหนึ่งในอีกหลายล้านคนที่ต้องถูกเลิกจ้าง

รศ.พนา ทองมีอาคม กรรมการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีความเห็นต่ออนาคตสื่อไทยหลังเหตุการณ์โควิด-19 ว่า ช่วงที่ผ่านมาสื่อมวลชนไทย จำเป็นต้องปรับตัวเองตามโซเชียลและเทคโนโลยี เป็นกระบวนการปรับตัวที่เริ่มมาก่อนหน้ายุคโควิด เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนตัวมองว่าสื่อไทยต้องปรับตัวใน 4 อย่าง หลังเหตุการณ์ คือ 1.เมื่อเกิดโรคระบาดโควิดฯ คนต้องการความรู้เพราะเป็นเรื่องของชีวิต เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คือ เรตติ้งช่อง 11 สูงขึ้นมาก เพราะคนติดตามข่าวสารความรู้ที่ถ่ายทอดจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ หลักๆ ผู้ที่มาออกอากาศจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าเรามองกลับไปในอดีตคนเรามักไม่ให้ความสนใจความรู้มากนัก แต่ต่อไปคนจะเสพข่าวความรู้มากกว่าเสพข่าวบันเทิง เปลี่ยนแปลงจากข่าวที่เน้นอารมณ์ความรู้สึก เป็นข่าวสารความรู้มากขึ้น แต่จะไม่ได้เป็นรูปแบบสุดโต่ง จะเปลี่ยนแปลงเป็นแบบผสมผสาน ดังนั้นการทำข่าวต้องเจาะลึก ค้นหาความจริงมากขึ้น

      

2.ความสำคัญของปัจจัยเรื่องเวลากับความถูกต้อง ในอดีตสังคมกว้าง แต่การสื่อสารไม่เชื่อมถึงกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์หนึ่งกว่าจะรู้อีกนาน  คุณค่าของสื่อจึงเน้นที่ความรวดเร็ว จะแข่งขันกันที่ความรวดเร็ว  แต่อนาคตความเร็วเป็นของที่หาได้มากมายในสังคมโซเชียล เมื่อเกิดอะไรขึ้นสังคมจะรู้เร็วมาก ดังนั้นความฉับไวจะเป็นอุปสรรคน้อยลง แต่ความถูกต้องแม่นยำจะต้องมีมากขึ้น ปัจจุบันคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ด้วยตัวเองอย่างรวดเร็ว มีนักข่าวภาคประชาชนเต็มไปหมด  คุณค่าของสื่อจึงอยู่ที่ความแม่นยำและถูกต้อง ต้องมีการตรวจสอบข่าวรายละเอียดที่ยืนยันว่าถูกต้องจริง

     

3.วิถีชีวิตของผู้คนหลังโควิดจะเปลี่ยน เป็นการใช้ชีวิตที่ระมัดระวังขึ้น ทำให้คนหยุดคิด เห็นภัยต่างๆว่าอยู่ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น ผู้คนมีความมั่นคงน้อยลง สะท้อนออกมาให้เห็นว่างานและเงินหายไป ดังนั้นคนจะกลับมาอดออมมากขึ้น จุดนี้ทำให้เกิดการประหยัด แสวงหาความบันเทิงที่มีสาระมากขึ้น ไม่ฟุ้งเฟ้อขาดความระมัดระวัง คนจะเสพสื่อที่เป็นสาระมากกว่าบันเทิง รูปแบบนี้อาจทำให้ผู้ประกอบการสื่ออาจจะไม่ได้เงินทันที แต่จะได้ในระยะยาว สื่อในยุค New Normal ต้องตอบสนองแนวทางการแสวงหาข้อเท็จจริง เสนอบันเทิงที่ไม่ได้ฟุ้งเฟ้อ ไม่ยั้งคิด สื่อต้องตอบสนองเรื่องปัญญา หมายความว่าต้องเจาะข่าวให้มากขึ้น

     

4.สื่อต้องปรับโดยให้คุณค่าการทำงานของสื่อมากขึ้น ในอดีตไม่เห็นคุณค่าของคนเก่ง เน้นคุณค่าความสามารถตอบสนองความต้องการของเจ้าของกองบรรณาธิการ เน้นเร็วราคาถูก ดังนั้นจะให้ความสำคัญนักข่าวใหม่ๆ ที่ความรู้ไม่มาก จะเห็นได้จากข่าวโควิด เมื่อนักข่าวพัฒนาตัวเองยังไม่พอ ขาดความรู้ที่แท้จริง ทำให้ข่าวเป็นกลางๆ ดังนั้นต้องปรับทิศทางให้คนทำสื่อต้องมีความรู้มีฝีมือมากขึ้น สื่อจึงต้องลงทุนด้านคนมากขึ้น 

      

“วิชาชีพสื่อจะยังอยู่ แต่รูปแบบจะเปลี่ยน เพราะมนุษย์ยังต้องการข้อมูลข่าวสาร สื่อนับว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งในสังคมสื่อเองต้องปรับตัวตลอดเวลา ซึ่งรายได้ก็เป็นส่วนหนึ่งในกำหนดหนึ่งถึงความอยู่รอด”

 ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิทัลและสื่อใหม่ แสดงความเห็นของคำว่า New Normal ในวงการสื่อว่า ก่อนจะไปใช้  New Normal ของสื่อนั้นต้องมองก่อนว่าสื่อคืออะไร ในแง่ของจริยธรรมการประกอบวิชาชีพ อุตสาหกรรมสื่อ หน้าที่ของเราคืออะไร ไม่เช่นนั้นจะหลงทาง ก่อนหน้านี้ในยุคดิจิทัล ไปมุ่งที่เว็บไซต์-ยุคทีวีดิจิทัล โซเชียลมีเดียในรอบ10 ปีซึ่งเป็นช่องทางไม่ถูก ปัจจุบันเว็บไซต์ของเราพัฒนาไปถึงไหนต่อให้มีการพัฒนามากแค่ไหน ถ้าเรายังไม่มีแพลตฟอร์มของเราก็พัง

      

“ในยุคโซเชียลฯมีผู้ประกอบการได้กำไรแค่ในระดับหน่วยเปอร์เซนต์ของรายได้ที่มีถ้าจะบอกว่าจะค้นหาสื่อยุค New Normal แล้วต้องมีการปรับตัว เราหาความปกติของสื่อให้ได้ก่อน ที่ผ่านมาก็ไม่ปกติอยู่แล้ว ตอนนี้จะปรับตัวไป New Normal ให้ได้ผลกำไร ในแง่วิชาชีพสื่อช่วง 4-5 ปีมานี้ก็ไม่ปกติอยู่แล้ว ทั้งศีลธรรม จริยธรรม ถ้าเรายังหาคำว่าปกติไม่ได้ เราก็จะหาสมดุลของเราไม่ได้เลย เป็นความสมดุลของธุรกิจ ระบบใหม่จะปรับไปได้หรือไม่ สภาวะ New Normal จะอยู่ไป 3 เดือนหรือ 1 ปี”

      

ดร.สิขเรศ เห็นว่าคำว่า New Normal เป็นวาทกรรมอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน อุตสาหกรรมสื่อมีวิวัฒนาการตลอดเวลา แต่ที่ผ่านมามีการลดระยะการปรับตัวจากรอบรายปีเป็นรายเดือนเป็นเรื่องปกติไม่ได้ปกติใหม่ เป็นวิวัฒนาการที่เร็วมากยิ่งขึ้น สังเกตว่าในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาในสื่อทีวีไม่มีอะไรใหม่เลย อาจจะมีเทคโนโลยีในบางอุตสาหกรรมฯ เช่น คอนเสิร์ตโดยซูม แต่ก็เป็นครั้งคราวไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ กลายเป็นความคุ้นชิน การใช้ซูม ไม่ได้มีประสิทธิภาพ ในแง่การสื่อสารเป็นมิติสื่อสารระหว่างบุคคล  การปรับตัวของเราไม่มีอะไรใหม่ ถึงเราจะใช้เทเลคอนฯหรือคอนเสิร์ตซูม ก็ไม่สามารถมาทดแทนความรู้สึก ไม่ตอบโจทย์ในความเป็นมนุษย์ เป็นไปไม่ได้เลย

   

อนาคตของสื่อไทยหลังโควิดฯเป็นอย่างไร ดร.สิขเรศ มองว่าสื่อยังคงทำเหมือนเดิม New Normal เป็นเพียงยกระดับทางวาทกรรม หลังโควิดฯการผลิตรายการหนีเข้าสถานีมากขึ้น ยืดระยะเวลาออกอากาศในการเล่าข่าว 2-3 ชั่วโมง ตนจึงตั้งคำถามว่าในการทำงานมีอะไรใหม่ เป็นการขยับเพื่อหนีตาย ประหยัด ลดต้นทุน ขอความเห็นใจจากประชาชน ส่วนสื่อวิทยุแทบไม่มีอะไรปรับเปลี่ยน บางแห่งสลับทำงานที่บ้าน สื่อออนไลน์ ตราบใดที่ไทยยังไม่มีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง ทำคอนเทนต์ดีๆ ก็ต้องไปอาศัยแพลตฟอร์มของต่างชาติ 

      

“สุดท้ายสื่อไทย ยังอยู่ในวังวนหมือนเดิม ย้ำที่เดิม ถ้าไม่ปรับแนวคิดวิชาชีพ กระบวนการทำงานลดลง การสร้างประโยชน์ทางธุรกิจลดลง สื่อต้องยอมรับให้ได้ ช่วงเกิดโควิดฯไทยรัฐทีวี ถือโอกาสปรับโครงสร้าง ค่าใช้จ่ายลดลง เป็นโอกาสให้นายทุนลดค่าใช้จ่าย สื่อจะอยู่ได้ ต้องปรับองค์กรให้กระชับมากขึ้น ไม่เทอะทะ ให้เป็นองค์กรที่เล็ก สามารถจรยุทธ์ได้อย่างรวดเร็ว จะเป็นองค์กรที่ใหญ่โตไม่ได้แล้ว  นี่เป็นโอกาสทองในการปรับลดให้เล็กลง”.-สำนักข่าวไทย

บทความพิเศษ ครบรอบ 43 ปี #สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

ล้มล้างการปกครอง

ศาล รธน.มีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้อง “ทักษิณ-พท.” ล้มล้างการปกครอง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” ล้มล้างการปกครอง

คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญถกคำร้อง “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างฯ

จับตา ศาลรัฐธรรมนูญ “รับ/ไม่รับ” คำร้องปม “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองหรือไม่

อุตุฯ เผยเหนือ-อีสาน อากาศเย็นในตอนเช้า ภาคใต้ฝนตกหนักบางแห่ง

กรมอุตุฯ เผยภาคเหนือ ภาคอีสาน มีอากาศเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

“เอวา” เสือโคร่งสายแบ๊ว ดาวรุ่งดวงใหม่

หน้าตาที่น่ารักบ้องแบ๊วเหมือนแมวตัวโต ตกหัวใจคนรักสัตว์กันไปเต็มๆ สำหรับน้องเอวา เสือโคร่งสายแบ๊วของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี นอกจากหน้าตาน่ารักแล้วยังมีความสามารถหลายอย่าง จนกลายเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ ที่ผู้คนแห่ไปชมความน่ารักกันอย่างคึกคัก คาดจะช่วยดึงนักท่องเที่ยวไปที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ