ก.คลัง 11 มิ.ย. – กบอ.เห็นชอบ 8 โครงการ 4 มาตรการ แก้ภัยแล้งในพื้นที่ EEC พร้อมเร่งพัฒนาเกษตร 5 คลัสเตอร์ ตั้งเป้ายกระดับรายได้เกษตรกร
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) รับทราบการดำเนินการช่วงสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่านมา โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนได้ร่วมกันรองรับมาตรการเร่งด่วน 8 โครงการ ร่วมกับ 4 มาตรการเสริม อาทิ เติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง โดยสูบผันน้ำจากท่อผันน้ำอ่างประแสร์-คลองใหญ่ เติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง โดยปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกด จังหวัดจันทบุรี เติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี และขอความร่วมมือลดใช้น้ำจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ 10% ซึ่งช่วยให้พื้นที่อีอีซี ผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งได้ด้วยดี
พร้อมทั้งเตรียมรองรับภัยแล้งปีต่อไป ได้แก่ วางแผนและบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอในฤดูแล้งหน้า ปี2563/2564 เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ และสูบกลับน้ำเพื่อเก็บน้ำให้มากที่สุด ภาคอุตสาหกรรมควรมีแหล่งน้ำของตนเอง ดำเนินการด้าน 3 Rs และ CSR ต่อสังคม โครงการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ ต้องมีแหล่งน้ำสำรอง และผลักดันการทำประปาหมู่บ้านไม่พึ่งแหล่งน้ำจากน้ำฝน ซึ่งมอบหมายให้ สทนช.ติดตามและเร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วน ทำให้พื้นที่อีอีซีเกิดความมั่นคงด้านน้ำ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคอย่างยั่งยืน
ขณะที่โครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่อีอีซี โดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เสนอโครงการพลังงานที่ใช้ในเมืองใหม่ รูปแบบพลังงานอัจฉริยะ (SPS) ลักษณะการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง หรือIndependent Power Supply (IPS) ซึ่งมอบหมายให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งให้ กฟภ. รับซื้อและส่งจำหน่ายสำหรับใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะส่วนอัตราค่าไฟฟ้าที่จะใช้ในเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะจะไม่สูงกว่าราคาไฟฟ้าทั่วไปที่ กฟภ.ขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น ๆ
ด้านการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี ที่ประชุม กบอ.รับทราบการจัดทำแผนพัฒนาดังกล่าว เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรให้เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและบริการแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ 1.ใช้ความต้องการนำการผลิต 2.ยกระดับการตลาด-การแปรรูป-การเกษตร ด้วยเทคโนโลยีในทุกขั้นตอน 3.ให้ความสำคัญกับ 5 คลัสเตอร์ที่มีพื้นฐาน ทำได้ทันที ทั้งนี้ ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก สกพอ.เป็นเลขานุการร่วม.- สำนักข่าวไทย