กรุงเทพฯ 11 มิ.ย. – EEC รับโควิดทำพิษ กระทบลงทุนต่างชาติชะลอ คาดกลุ่มการบินฟื้นปลายปี 64 เตรียมเดินหน้าลงนามร่วมกลุ่ม BBS 19 มิ.ย.นี้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานวันนี้ (11 มิ.ย.) ว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบค่อนข้างมาก ยอมรับการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างประเทศปีนี้คงจะไม่ลื่นไหล ซึ่งมองว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวภายหลังจากมีวัคซีน ขณะที่กลุ่มการบินมองว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ปกติเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 อีกครั้งคือช่วงปลายปี 2564 แต่ตัวเลขคงต้องรอจากทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีกครั้ง แต่เชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังคงเป็นเป้าหมายของนักลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีโดยจะหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการ กบอ.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อขออนุมัติอีกครั้ง โดยกลุ่มบุคลากรภาคธุรกิจในพื้นที่อีอีซี จากประเทศญี่ปุ่น อาทิ หอการค้าประเทศญี่ปุ่น ( JCC) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ภาคธุรกิจจากสาธารณรัฐเกาหลี และประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมได้ยื่นหนังสือถึงภาครัฐ ขอให้ผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ รวมถึงการส่งช่างเทคนิคเข้ามาตรวจสอบซ่อมบำรุงเครื่องจักรในอุตสาหกรรม และเพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการต่างประเทศสร้างภาคีเครือข่ายระหว่างองค์กร บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศต้นทางกับสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ จัดให้มีการตรวจและออกใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมกับการเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly) รวมทั้งหารือกับกระทรวงสาธารณสุขพิจารณากำหนดประเทศต้นทางและจำนวนบุคลากรที่จะอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศแต่ละช่วงเวลา การกำหนดมาตรการกักกัน Flexible Alternative Quarantine ให้ผู้เดินทางเข้าประเทศสามารถทำภารกิจที่จำเป็นได้ และร่วมกันพิจารณาขึ้นทะเบียน สถานกักตัวทางเลือก Alternative State Quarantine เพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซี ที่บุคลากรในโรงพยาบาลเอกชนสามารถสื่อสารภาษากับประเทศต้นทางได้ เพื่ออำนวยความสะดวกยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการลงทุนของอีอีซีทั้งหมด 5 โครงการนั้น ซึ่งมี 2 โครงการที่ลงนามแล้ว ประกอบด้วย 1.รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.ท่าเรือแหลมฉบัง และสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน จะลงนามกับกลุ่ม BBS วันที่ 19 มิถุนายนนี้ ขณะที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดอยู่ระหว่างการพิจารณา และด้านศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) เชื่อว่าจะล่าช้าไปกว่าแผนที่วางไว้.-สำนักข่าวไทย