กรุงเทพฯ 21 พ.ค. – เลขาฯ อีอีซีคาดสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบิน เซ็นสัญญาต้น มิ.ย.นี้ ยันไม่ต้องใช้เงินรัฐ แนะทำศูนย์ซ่อมอากาศยานต่อ เพราะได้กำไร
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือคณะกรรมการอีอีซี แถลงผลการประชุมที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า คณะกรรมการอีอีซีเห็นชอบโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 290,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นสนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3 โดยจะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไปและคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสผู้ชนะการประมูลต้นเดือนมิถุนายนนี้
สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ กลุ่มบีบีเอสเสนอราคาเป็นจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรายปีรวมตลอดอายุสัญญาร่วมทุน เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน ณ ปี 2561 โดยใช้อัตราคิดลดร้อยละ 3.76 เท่ากับ 305,555,184,968 บาท ตลอดอายุสัญญา 50 ปี แต่สามารถคืนงบประมาณ ซี่งนำมาใช้สร้างโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ที่ใช้งบ 117,227 ล้านบาท จึงยังมีรายได้สุทธิ จาก 2 โครงการนี้ เพื่อลงทุนในอนาคต 188,328 ล้านบาท เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจถึง 532,000 ล้านบาท รายได้ภาษีอากร 92,650 ล้านบาท และสร้างตำแหน่งงานอีก 2,9870 คน
นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมประสานงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้มีการทำงานอย่างบูรณาการเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดเชื่อมโยงแผนงานการก่อสร้าง และแผนการเปิดบริการให้สอดคล้องหรือพร้อมกันได้ โดยสนามบินอู่ตะเภาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการรถไฟความเร็วสูง และสร้างความต้องการ ทำให้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงเพิ่มขึ้น ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูง ทำให้การเดินจากกรุงเทพฯ มายังสนามบินอู่ตะเภาเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ส่งผลให้ได้รับความนิยมและความสะดวกสบายยิ่งขึ้นในการใช้สนามบิน หากปราศจากโครงการใดโครงการหนึ่ง ประเทศและประชาชนจะได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ส่งผลกระทบ เพราะโครงการจะก่อสร้างเสร็จปี 2566 ซึ่ง สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือไออาตา ประเมินว่าธุรกิจการบินจะกลับมาภายใน 2 ปีจากนี้ไป เมื่อถึงตอนนั้นท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองจะมีการใช้บริการหนาแน่นเหมือนเดิม
นายคณิศ กล่าวถึงกรณีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะต้องมีการทำแผนฟื้นฟูกิจการ ว่า ทางอีอีซีจะแนะนำคณะกรรมการจัดทำแผนฟื้นฟูว่าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือเอ็มอาร์โอควรได้รับการบรรจุไว้ในฟื้นฟูและดำเนินการต่อไป เนื่องจากเป็นโครงการที่ส่งผลดีต่อการบินไทยไม่ต้องลงทุนสร้างเอง เพียงแต่เช่าตัวอาคารจากกองทัพเรือและลงทุนอุปกรณ์สำหรับใช้ในการซ่อมเครื่องบิน และยังเป็นโครงการที่มีกำไร ส่วนกรณีแอร์บัสไม่พร้อมที่จะร่วมลงทุน แต่พร้อมให้การสนับสนุนทางเทคนิคนั้น การบินไทยสามารถหาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ได้ โดยมีการจัดสรรที่ดิน 250 ไร่ และมีพื้นที่เหลืออีก 300 ไร่ ทำเอ็มอาร์โออีกเช่นกัน
“โครงการเอ็มอาร์โอ อีอีซีไม่ได้เอาไข่การบินไทยวางไว้ลูกเดียว แต่กว่าสถานการณ์การบินจะฟื้นก็อีก 2 ปีระหว่างนี้ดำเนินการเตรียมพร้อมด้านต่าง ๆ ได้” นายคณิศ กล่าว
นายคณิศ กล่าวว่า ขณะนี้อีอีซี อยู่ระหว่างเตรียมการที่จะหานักลงทุนเข้ามาทำโครงการเอ็มอาร์โออย่างจริงจัง เพราะโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาได้รับการอนุมัติแล้ว การออกไปเชิญชวนนักลงทุนช่วงนี้ทำให้นักลงทุนมีความสนใจเข้ามาลงทุน เนื่องจากโครงการที่ถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของอีอีซีมีผู้ลงทุนแล้วและจะเสร็จปี 2566 ซึ่งการอนุมัติของคณะกรรมการอีอีซี วันนี้ (21 พ.ค.) จึงสำคัญมาก
นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองเลขาธิการสายงานโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานอีอีซี กล่าวว่า ในส่วนของโครงการเอ็มอาร์โอ มีเอกชนให้ความสนใจมากกว่า 4-5 ราย ด้านการลงทุนก่อสร้างอาคารจะลงทุนโดยกองทัพเรือให้ที่ปรึกษาออกแบบ การก่อสร้างใช้เวลา 3 ปีกว่าอาคารจะเสร็จปี 2566 ระหว่างนี้สามารถคัดเลือกผู้ร่วมทุน ซึ่งระยะเวลาจะสอดคล้องอาคารจะไม่มีเสากลางกว้าง 270 เมตร รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่จอดซ่อม 5 ลำ และรองรับเครื่องบินเล็กอีก 3 ลำ สำหรับเครื่องมือซ่อมการบินไทยและเอกชนร่วมทุนจะเป็นผู้ลงทุนจัดหามา
สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาเป็น “เมืองการบินภาคตะวันออก” พื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ และศูนย์ฝึกอบรมการบิน.-สำนักข่าวไทย