กรุงเทพฯ 11 มิ.ย. – กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดแผนฟื้นฟูฯ ขสมก. ชงตั้ง “อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นประธาน ลุยกำกับแผนฯ-สางหนี้สะสม 127,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับแนวทางการฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งล่าสุดกรอบการดำเนินการผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ไปแล้ว โดยกระทรวงคมนาคมได้เตรียมเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฉบับปรับปรุงใหม่)
สำหรับคณะกรรมการดังกล่าว มีกรรมการร่วม 13 คน โดยจะเสนอชื่อให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน โดยยังมีรายชื่อของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้อำนวยการ ขสมก. และรองผู้อำนวยการ ขสมก.ฝ่ายบริหาร ร่วมกันเป็นกรรมการ
คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีภารกิจกลั่นกรองงานตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่ ตามที่ คนร.ตั้งข้อสังเกต และแนวทางที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย พิจารณาปรับปรุงแผนให้มีความชัดเจน ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลตามที่จำเป็น ปฏิบัติตามภารกิจที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และสรุปแนวทางฟื้นฟูกิจการเพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบทบาทของคณะกรรมการชุดดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงคมนาคมต้องการเร่งรัดแผนฟื้นฟู ขสมก.ให้มีความคืบหน้าโดยเร็วและยังมีรายละเอียดที่ต้องดำเนินการต่อไปอีกหลายประเด็น เช่น การจัดเช่ารถเมล์ EV 2,511 คัน การกำหนดค่าโดยสารแบบตั๋ววัน 30 บาท ซึ่งคณะกรรมการที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีฯ เป็นประธานฯ นอกจากจะทำรายละเอียด เพื่อเตรียมเสนอ ครม.แล้ว จะต้องประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงการคลัง ตามที่มีภารกิจที่ต้องรับไปดำเนินการต่อประเด็นที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาหนี้และภาระขาดทุนสะสมของ ขสมก.กว่า 127,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูง และต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง รวมถึง สศช. โดยภาระหนี้ที่มีในอดีตนั้น จะมีลักษณะต้องทยอยชำระเป็นงวด ๆ ทั้งในส่วนของหนี้พันธบัตรและหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนด รวมทั้งในอนาคตเมื่อแผนฟื้นฟูผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ก็จะมีภารกิจในการติดตามความคืบหน้าของงาน ตามแนวทางการฟื้นฟู ในระยะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่าน 2-3 ปีข้างหน้า เช่น ภารกิจที่ ขสมก.จะมีการทยอยรับมอบรถเมล์ EV ใหม่ 2,511 คัน จนครบเดือนกันยายน 2565 ด้วย.-สำนักข่าวไทย