พัทลุง 10 มิ.ย.- กรณีที่แม่ค้าอาหารทะเลใน จ.พัทลุง ร้องผ่านสื่อมวลชนว่าถูกตำรวจรีดไถเงิน ซึ่งต่อมามีการกลับคำให้การ จนกลายเป็นเรื่องโอละพ่อ ขณะที่มีผู้เสียหายในลักษณะเดียวกันเข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชนเพิ่มเติม แต่ในที่สุดก็กลับคำให้การเช่นเดียวกัน กลายเป็นข้อสงสัยของสังคมว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ติดตามจากรายงาน
นี่คือหลักฐานการแชทระหว่างแม้ค้าอาหารทะเลกับผู้สื่อข่าวท้องถิ่น จ.พัทลุง เล่าเหตุการณ์ถูกเรียกเงินระบุตัวเลข 80,000 บาทก่อนลดลงเหลือ 40,000 และ 10,000 บาท พร้อมหลักฐานการโอนเงินให้ตำรวจที่ถูกระบุว่าเป็นค่าโดนจับ ซึ่งนายไสว รุยันต์ ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น นำไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานแจ้งความเอาผิดกับแม่ค้าอาหารทะเล พร้อมกับเทปการสัมภาษณ์ที่แม่ค้ามาร้องขอความเป็นธรรมให้สื่อมวลชนช่วยเหลือในวันที่ 4 มิถุนายน หลังอ้างว่าถูกรีดเงิน พร้อมอาหารทะเล แลกกับหารปล่อยตัวหลังถูกจับกุมฝ่าฝืนเคอร์ฟิวกลางดึก วันที่ 2 มิถุนายน
นายไสว เล่าว่า หลังจากวันนั้น ไม่สามารถติดต่อแม่ค้าอาหารทะเลได้ ต่อมามีการปล่อยคลิปเสียงสนทนาที่อ้างว่าเป็นเสียงของแม่ค้า และตำรวจ ซึ่งบางส่วนในบทสนทนาระบุว่าแม่ค้าถูกข่มขู่ และเลือกที่จะเอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่
8 มิถุนายน แม่ค้าอาหารทะเลจะออกมาให้การต่อเจ้าหน้าที่และต่อหน้าสื่อมวลชน โดยมี ผบก.ภ.จว.พัทลุง ร่วมซักถาม ซึ่งคำให้การไม่ตรงกับการให้สัมภาษณ์สื่อ และข้อความขอความช่วยเหลือในแชท ซึ่งเธอเป็นผู้ร้องสื่อด้วยตนเอง ไม่ใช่สามี
หลังจากนั้น ยังมีผู้เสียหายที่อ้างว่า ถูกเจ้าหน้าที่รีดไถอีกอย่างน้อย 2 กรณีเข้าร้องเรียนผ่านสื่อ ในวันที่ 6 และ 8 มิถุนายน ทั้งเปิดเผยเรื่องการเรียกรับสุราต่างประเทศแลกกับการปล่อยรถจักรยานยนต์ที่ถูกตรวจยึด และเรียกรับเงิน 50,000 บาท แลกกับการปล่อยตัวชาย 5 คน ที่สงสัยพัวพันยาเสพติด ซึ่งภายหลังการนำเสนอข่าว ผู้เสียหายได้เข้าพบ ผบก.ภ.จว.พัทลุง เมื่อวานนี้ และให้การว่า ถูกข่มขู่ให้พูด ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง
ทั้ง 3 เหตุการณ์ที่ผู้เสียหายร้องสื่อก่อนกลับคำให้การ ทั้งหมดถูกระบุว่า เป็นการจับกุมของชุดสืบสวน สภ.เมืองพัทลุง โดยมี “สารวัตรบอล” หรือ พ.ต.ท.ศิรักษ์ เป็นหัวหน้าชุด ซึ่งได้เปิดใจกับสำนักข่าวไทย ยืนยันว่าไม่เคยเรียกรับเงินจากผู้เสียหาย และขอให้สังคมร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยยอมรับว่าเหตุการร์นี้ทำให้เสียกำลังใจ การปฏิบัติหน้าที่บางครั้งอาจเกิดความไม่พอใจของฝ่ายที่เสียประโยชน์ แต่พร้อมให้ตรวจสอบ เพราะตลอด 10 ปีในการรับราชการตำรวจ มีความตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่
แม้ล่าสุดการให้ข้อมูลของผู้เสียหายที่ให้กับสื่อมวลชน จะไม่ตรงกับคำให้การที่ให้ไว้กับเจ้าหน้าที่ แต่ ผบก.ภ.จว.พัทลุง ยืนยันว่า จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏโดยเร็ว และได้สั่งการให้สารวัตรและตำรวจชั้นประทวน ที่ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง รวม 4 นาย ไปประจำการที่กองบังคับการตำรวจภูธรพัทลุง ขาดจากตำแหน่งเดิม เพื่อไม่ให้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการสืบสวนจับกุมแล้ว
การกลับคำให้การของผู้เสียหายที่เกิดขึ้นใน จ.พัทลุง กำลังเป็นที่จับตามองของประชาชน ถึงการทำหน้าที่สื่อมวลชน และตำรวจ ที่ต่างต้องตรวจสอบพิสูจน์ข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคม.-สำนักข่าวไทย