กรุงเทพฯ 10 มิ.ย. – “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” อำลาตำแหน่ง ปลื้มร่วมช่วยเหลือรายย่อย ผู้ประกอบการ ฝ่าฟันปัญหา แก้ปัญหาโควิด-19 ฝากงาน ผอ.ออมสินคนใหม่ Change ไปสู่บริการในยุค New Normal รองรับสังคมดิจิทัล
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาเกิดปัญหาโควิด-19 ธนาคารออมสินพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติ 6 เดือน จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2563ช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท รวม 3 ล้านราย วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาท สินเชื่อเพื่อค่าใช้จ่ายผู้มีอาชีพอิสระ วงเงินกู้ฉุกเฉิน 10,000 บาท และสินเชื่อสำหรับผู้มีรายได้ประจำวงเงิน 50,000 บาท มีผู้ยื่นกู้ถึง 3 ล้านราย ในช่วง 2 เดือน อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 600,000 ราย นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 150,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับนอนแบงก์ สถาบันการเงิน และเอสเอ็มอี ยอดยื่นกู้แล้ว 13,093 ราย อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 108,960 ล้านบาท ยังเหลือวงเงินรองรับอีก 41,000 ล้านบาท
ปัจจุบันผลดำเนินงานครึ่งปีแรก มีสินเชื่อ 2.15 ล้านล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกัน 5,646 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 5,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากกำไรดอกเบี้ยเงินฝาก ยอดเงินฝาก 2.47 ล้านล้านบาท ทรัพย์สินรวม 2.8 ล้านล้านบาท หนี้ NPL ร้อยละ 2.88 หรือจำนวน 62,077 ล้านบาท
หลังจากมุ่งมั่นยกระดับองค์กรทุกมิติ ปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัลและสถานการณ์โควิด-19 ทั้งทางด้านพฤติกรรมลูกค้า เทคโนโลยี นวัตกรรม กฎระเบียบ เพื่อให้บริการแก่ลูกค้า และประชาชนในทุกบทบาท ให้บริการโมบายแบงกิ้ง 7.9 ล้านคน รองจากอันดับ 1 ที่มีลูกค้า 13 ล้านคน เปลี่ยนจากธนาคารเด็ก และธนาคารผู้สูงวัย เป็นกลุ่มฐานรากร้อยละ 60 ปัจจุบันลูกค้าเงินฝากเหมือนกับแบงก์พาณิชย์ จึงต้องปรับตัวดูแลเหมือนกับแบงก์ทั่วไป เป็นลูกค้านักศึกษาเติบโตร้อยละ 41 ทำให้ลูกค้าออมสินมีความหลากหลาย ขณะที่ลูกค้าฐานรากมียอดเงินฝาก 300,000 ล้านบาท แต่ธนาคารออมสินต้องให้การช่วยเหลือกลุ่มฐานรากเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้เติบโตเข้าถึงแหล่งทุนและขยายการให้บริการสาขา Social Branch มิติใหม่ของสถาบันการเงินเพิ่มสาขาดูแลด้านสังคม การสร้างศูนย์กลางพัฒนาส่งเสริม SMEs อย่างครบวงจร การร่วมทุนกับ Venture Capital หรือ Startup ที่มีศักยภาพ
“ออมสินมุ่งบริการธุรกรรมปกติลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาสาขา เพื่อเน้นให้บริการแบบ Delivery Banking เข้าถึงตัวลูกค้าผ่านบริการ/ช่องทางต่าง ๆ ทั้งรถยนต์บริการเคลื่อนที่ เรือออมสิน การให้บริการด้วยเครื่องมือให้บริการในชื่อ SUMO และบริการแบบ Digital Banking ผ่าน Mobile Application “ MyMo” สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก และมุ่งบริการในยุค New Normal จึงต้องฝากให้ผู้อำนวยการท่านใหม่สานต่อ การทำมากกว่าการให้สินเชื่อ เพื่อเน้นเป็นศูนย์การให้คำปรึกษามากกว่าการให้สินเชื่อ และบริการยุคดิจิทัลแบงกิ้งนับว่ามีความสำคัญในยุคปัจจุบัน” นายชาติชาย กล่าว
สำหรับธุรกิจใหม่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี เช่น บริการส่งอาหาร ส่งสินค้า โลจิสติกส์ การค้าออนไลน์ ธุรกิจสุขภาพ สำหรับธุรกิจร่วง เช่น ธุรกิจการบิน อาจฟื้นตัวได้ช้า การส่งออก เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ร้านอาหาร โรงแรม เนื่องจากลูกค้าไปทานอาหารน้อยลง ดังนั้น ใครจะทำธุรกิจต้องปรับตัวรองรับ New Normal เพราะขณะนี้ลูกค้าต้องวางแผนทางการเงิน สำรองเงินอย่างน้อย 6 เดือน สัดส่วนร้อยละ 66 ทุกคนกังวลเรื่องสุขภาพมากขึ้นร้อยละ 52 การทำธุรกกิจออนไลน์มากขึ้น เพราะปัจจุบันลูกค้าไม่ต้องเดินไปสาขา เพราะจะฝาก ถอน จ่ายเงินผ่านออนไลน์ได้ทั้งหมด บริการทางการเงินเปลี่ยนไปมากผ่านมือถือ Digital of Life ต้องเน้นการให้คำปรึกษา ทีมงานต้องมีความรู้ พูดคุยให้คำปรึกษาลูกค้ายุคใหม่ โดยมีโมบายแบงกิ้งเป็นหลัก ส่วนบุคลากร หลายส่วนมุ่งไปดูแลเศรษฐกิจฐานราก ดูแลด้านสังคม .-สำนักข่าวไทย